เงินบาทเปิด 36.94 เกาะติดสงครามอิสราเอล-ฮามาส จับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบ-ทองคำ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงิน บาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.94 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 37.00 บาท/ดอลลาร์

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์เริ่มย่อตัวลงบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน ดังนั้นในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และควรเตรียมรับมือความผันผวนในตลาดการเงิน จากภาวะสงคราม ระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่อาจขยายวงกว้างเป็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้

“ตลาดจะรอติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนในระยะสั้นได้ โดยหากสงครามขยายวงกว้างมากขึ้น ก็อาจทำให้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้ในระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นใน ตลาดอาจต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อาทิ เงินดอลลาร์ เงินเยนญี่ปุ่น และทองคำ” นายพูน ระบุ

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท แม้จะเริ่มเห็นโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ อาจยังมีความ ผันผวน นอกจากนี้ ควรระวังและจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบ รวมถึงราคาทองคำ หลังความเสี่ยงสงครามล่าสุดอาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบพุ่ง สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า แต่ในขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็อาจปรับตัวขึ้นได้ และจะเป็นปัจจัยช่วยชะลอการอ่อนค่า ของเงินบาท นายพูน มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.10 บาท/ดอลลาร์

 ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 149.13 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 149.05 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0562 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0552 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท. อยู่ที่ระดับ 36.971 บาท/ดอลลาร์

– นักธุรกิจไทยถึงช็อก! เหตุการณ์รุนแรงในตะวันออกกลาง ห่วงสวัสดิภาพแรงงานไทยที่ต้องเสียรายได้จำนวนมาก คาดไม่ บานปลาย เชื่อไม่กระทบการเจรจาเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศอาหรับ

– “คลัง” กางยอดจัดเก็บรายได้ 11 เดือน ปีงบประมาณ 2566 ทะยานแตะ 2.36 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.53 แสนล้านบาท ด้าน 3 กรมภาษีโชว์ผลงานรีดภาษีพุ่ง 2.46 ล้านล้านบาท “สรรพสามิต” อ่วมลดภาษีน้ำมันทุบผลงานหลุดเป้า

– นายกรัฐมนตรีสั่งกรมสรรพากรทบทวนภาษี “มรดก-ที่ดิน” หวังเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ชี้เมื่อ รัฐบาลมีกฎหมายจัดเก็บภาษีออกมาแล้ว อยากให้เก็บได้จริง ไม่อยากให้เป็นเพียงสัญลักษณ์

– “จุลพันธ์” นัดแถลงโต้ 99 นักวิชาการค้านแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบ. โวภาคเอกชนหนุน “ประธาน กมธ.การเงินฯ สภาฯ” หนุนเดินหน้าเพิ่มกำลังซื้อ “ก้าวไกล” ไม่เชื่อสร้างพายุหมุนทาง ศก. โพลเผย ปชช.ไม่เชื่อมั่น กังขาที่มาแหล่งเงิน หนุน “นายกฯ” ดีเบต “ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ”

– ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ พุ่งขึ้นเป็น 1,100 รายแล้วในขณะนี้ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

– นักลงทุนจับตาสถานการณ์ของอิหร่านซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ หลังจากสื่อต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่าย ความมั่นคงของอิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสในการวางแผนโจมตีอิสราเอลในครั้งนี้ โดยหากมีการยืนยันว่าอิหร่านเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จริง ก็อาจจะทำให้สหรัฐเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน รวมถึงการห้ามไม่ให้อิหร่านส่งออกน้ำมัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบ ต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก

– กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (6 ต.ค.) ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 336,000 ตำแหน่ง ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง ซึ่งตัวเลขการจ้างงานดังกล่าวนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้ง แต่เดือนม.ค. ส่วนอัตราการว่างงานยังทรงตัวที่ระดับ 3.8% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจลดลงสู่ระดับ 3.7%

– หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกน เชสระบุเมื่อวันศุกร์ (6 ต.ค.) ว่า รายงานการจ้างงานที่ร้อนแรงเกินคาดไม่ น่าจะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย. แต่ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอัตรา เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นอาจเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก

– บรรดานักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ระยะยาวของสหรัฐพุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ข้อมูลการจ้างงานบ่งชี้ว่า ค่าจ้างชะลอตัวลง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่จ่ายค่าจ้างลดลง

– นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยก่อนที่ธนาคารกลาง สหรัฐ (เฟด) จะประชุมนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. โดยสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ย. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย.

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 66)

Tags: ,