เงินบาทเปิด 36.89 แข็งค่า หลังดัชนี PMI สหรัฐฯต่ำคาด ฉุดบอนด์ยีลด์-ดอลลาร์อ่อนลง

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 36.89 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่า จากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 37.07 บาท/ดอลลาร์ หลังเมื่อคืนตัวเลข PMI สหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร สหรัฐฯ ลง และดอลลาร์อ่อนค่าเทียบทุกสกุลเงินส่วนใหญ่

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.80 – 37.10 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันต้อง ติดตาม Fund Flow นักลงทุนต่างชาติ ส่วนคืนนี้ต้องติดตามยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนจากสหรัฐฯ

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนทรงตัวอยู่ที่ระดับ 154.79 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 154.81 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0708 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0661 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 37.025 บาท/ดอลลาร์

– ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอการยกเว้นการตรวจลงตรา (VISA) เพื่อ การท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติรัสเซีย เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว ให้อยู่ในราช อาณาจักรได้ไม่เกิน 60 วัน เป็นกรณีพิเศษ โดยมีเงื่อนไขให้มีผลบังคับใช้ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ก.ค.2567 เพื่อให้เกิดความต่อ เนื่องจากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย.2567

– รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ระหว่างไทยและอินโดนีเซียปริมาณ 1 ล้าน ตัน ว่า ขณะนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลอินโดนีเซีย บรรลุข้อตกลงซื้อขายข้าวจีทูจี ลอตแรก ปริมาณ 55,000 ตันแล้ว โดยจะเริ่มส่งมอบ ตั้งแต่เดือน เม.ย.67 เป็นต้นไป พร้อมสั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าเจรจาขายลอตต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะช่วย เพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไทยแล้ว ยังส่งผลดีต่อราคาข้าวไทยทั้งระบบอีกด้วย

– ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) กล่าวว่าเมื่อวันจันทร์ที่ 22 เม. ย. ราคาทองคำในตลาดโลก ได้ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ โดยในวันที่ 23 เม.ย. ทำระดับต่ำสุดที่ 2,295 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ โดยราคามีความผันผวนหลังเกิดแรงขายทางเทคนิค จากช่วงก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นไปทำนิวไฮต่อเนื่อง ด้วยความกังวลเหตุปะทะอิสราเอล-อิหร่าน ล่าสุดสถานการณ์ไม่ได้มีสัญญาณการตอบโต้กลับ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวล ส่งผลให้เกิด แรงเทขายทำกำไร ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันจากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐยังส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ย สูงไว้ และมีโอกาสที่จะเหลือการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพียง 1 ครั้ง

– ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (23 เม.ย.) หลังการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (23 เม.ย.) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 2 วันทำการ หลังจากนักลงทุน คลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์ นี้ เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

– นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์นี้ (26 เม.ย.) เพื่อหา สัญญาณบ่งชี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจาก สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

– ข้อมูลล่าสุดจากแอลเอสอีจี (LSEG) ระบุว่า ขณะนี้นักลงทุนในตลาดการเงินคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม ทั้งสิ้น 0.43% ในปีนี้ ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยโดยรวม 1.50% ในปีนี้

– ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค. ส่วนในวันพฤหัสบดีจะเปิดเผย จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิด การขาย (Pending Home Sales) เดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 67)

Tags: , ,