เงินบาทเปิด 36.74 อ่อนค่ารับดอลลาร์แข็งค่าหลังสหรัฐรอดชัตดาวน์-จับตาผู้ว่าธปท.พบนายกฯ

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 36.74 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 36.47 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค เนื่องจากดอลลาร์กลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก หลังสภาคองเกรสผ่านมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องชัตดาวน์หน่วยงานของสหรัฐฯ ได้ทันเวลา ส่งผลให้บอนด์ยีลด์กลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

“เช้านี้บาทอ่อนค่ามามากจากสุดสัปดาห์ก่อน หลังสภาครองเกรสผ่านมาตรการแก้ไขเรื่องชัตดาวน์ได้ทันเวลา ส่งผลให้ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก” นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.60 – 36.80 บาท/ดอลลาร์ ติดตามกรณีนายกรัฐมนตรีเรียกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าพบว่าจะมีการหารือกันในประเด็นใด

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 149.64 เยน/ดอลลาร์ จากสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 148.95 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0562 ดอลลาร์/ยูโร จากสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 1.0607 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 36.536 บาท/ดอลลาร์
  • นายกฯ ถกผู้ว่าการแบงก์ชาติวันนี้ สั่งคลังเร่งแก้หนี้นอกระบบเริ่มวันแรกยื่นพักหนี้ เกษตรกรแห่ลงทะเบียนร่วมหมื่นคน ‘มนพร’ จ่อฟื้นชีพท่าเรือร้าง ประเดิม ‘คลองใหญ่-เกาะลอย’
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ติดตามภาวะค่าเงินบาทใกล้ชิดเพราะการที่เงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้ามากขึ้นเพราะต้องนำเข้าพลังงาน สินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ต้องปรับขึ้น เพื่อดูแลภาวะค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน จะส่งผลต่อต้นทุนการเงินจากดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่จะกระทบมากขึ้น
  • “เงินบาท” เดือน ก.ย. ทรุดลงเฉียด 5% ทำสถิติอ่อนค่าสุดรอบปี ทั้งยังเป็นการเสื่อมค่ามากสุดในภูมิภาคแซงหน้า “เงินเยน” และ “เงินหยวน” ไปเรียบร้อย นักวิเคราะห์แนะระยะสั้น 1-2 เดือนส่อรูดแตะ 37 บาท แต่เชื่อกลับมาแข็งค่าช่วงปลายปีจาก 3 ปัจจัยหนุน
  • สำนักวิจัย แห่ปรับ “จีดีพี” ปีนี้ลงต่ำ 3% หลังเศรษฐกิจโตต่ำคาด ห่วง กนง.ขึ้นดอกเบี้ยยิ่งกระทบอุปสงค์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้ากลับมาโตดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ หวั่นขยายตัว ช่วงสั้น ระยะยาวน่าห่วง “เวิลด์แบงก์” ชี้ชัดเศรษฐกิจไทยโตต่ำลงเรื่อยๆ สะท้อนความท้าทายเพิ่มขึ้น “ทีดีอาร์ไอ” ชี้การขึ้นดอกเบี้ยกระทบต้นทุนธุรกิจและการบริโภค หวังมีมาตรการอื่นลดผลกระทบเศรษฐกิจ
  • นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม โดยเฉพาะการนำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มาเป็นเครื่องมืออย่างจริงจัง
  • สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวด้วยคะแนนเสียง 335 ต่อ 91 เสียง และจากนั้นได้ส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณา ซึ่งผลปรากฎว่า วุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 88 ต่อ 9 เสียง ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าว และส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ก่อนกำหนดเส้นตายในช่วงเที่ยงคืนวันเสาร์ที่ 30 ก.ย.ตามเวลาสหรัฐ
    หรือประมาณ 11.01 น. ตามเวลาไทยในวันอาทิตย์ที่ 1 ต.ค.
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 3.4% ในเดือนก.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ
    0.5% จากระดับ 0.2% ในเดือน ก.ค.
  • ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 68.1 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 69.5 ในเดือนส.ค.
  • ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.ย. รายงาน JOLTs ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 66)

Tags: , ,