นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.23 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.07 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าหลังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน และดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อคืนนี้ออกมาดีเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวพุ่งขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดมั่นใจว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเดือน ก.ค.นี้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแน่นอน และไม่รู้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะจบเมื่อไหร่
“บาทอ่อนค่าจากเย็นวานนี้ขึ้นมามาก เนื่องจากดอลลาร์ได้รับหลายปัจจัยหนุนให้แข็งค่า” นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.10 – 35.35 บาท/ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 144.05 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 144.11/12 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0883 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0867/0867 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 35.109 บาท/ดอลลาร์
- ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เกตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่าภาพรวมของค่าเงินและดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 66 ประเมินทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐ เป็นปัจจัยชี้นำค่าเงิน โดยครึ่งปีแรกเงินบาทเคลื่อนไหวในโซนอ่อนค่า แต่ยังเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนถ่วงค่าเงินหยวนลง ส่วนครึ่งปีหลังเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่า คาดว่าสิ้นปี 66 ที่ 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ บนสมมุติฐานที่ว่าสหรัฐ ใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ได้แรงส่งเชิงบวกจากภาคท่องเที่ยว
- “สมาคมตราสารหนี้” ชี้ “สตาร์ค” กระทบหุ้นกู้เรตติ้งตั้งแต่ BBB ระดมทุนยาก เหตุนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น เผยครึ่งปีแรกเอกชนขายหุ้นกู้แล้ว 6 แสนล้าน เชื่อทั้งปไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท
- “บิ๊กตู่” นำรายชื่อ “ประธาน-รองประธานสภาทั้ง 2 คน” ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว “พิเชษฐ์” ว่าที่ รองประธานสภาแย้มไทม์ไลน์เลือกนายกฯ 3 ครั้ง 13 กรกฎาคม เลือกต่อ 19-20 กรกฎาคม ชี้ถ้า 3 ครั้งไม่ได้ ทั้ง 8 พรรคไปหารือใหม่
- “เฟทโก้” ชี้ปัจจัย กดดันการเมืองทำนักลงทุนชะลอซื้อหุ้น บ่งชี้ผ่าน ดัชนีตลาดวานนี้ (6 ก.ค.) ร่วงแรง 22 จุด ย้ำหากตั้งรัฐบาลใหม่ราบรื่น หนุนฟันด์โฟลว์ ไหลกลับ มองระยะยาวมองพื้นฐานเศรษฐกิจไทย แข็งแกร่ง จากนักท่องเที่ยวพุ่ง-นักธุรกิจจีนสนใจลงทุนทางตรงประเทศไทยเพิ่ม
- ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้น 497,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 220,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 267,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค.
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 12,000 ราย สู่ระดับ 248,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 245,000 ราย
- สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือนพ.ค. พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานอยู่ที่ระดับ 9.824 ล้านตำแหน่ง ซึ่งแม้ว่าลดลง 496,000 ตำแหน่ง แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่สูง
- นักลงทุนเทน้ำหนักมากกว่า 90% ในการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ หลังภาคเอกชนสหรัฐมีการจ้างงานที่แข็งแกร่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 96.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 3.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%
- ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (6 ก.ค.) หลังจากที่แข็งค่าขึ้นอย่างมากในระหว่างวัน อันเนื่องมาจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (6 ก.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้ สหรัฐจะรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 225,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. หลังจากที่พุ่งขึ้น 339,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 3.7% ในเดือนพ.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 66)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท