นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่า เงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.97 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากปิดวันก่อนที่ระดับ 35.04 บาท/ดอลลาร์
สำหรับวันนี้ แม้จะไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญมากนัก แต่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นถ้อยแถลงของ Michael Barr เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด หลังจากตลาด รวมถึงบรรดาเจ้า หน้าที่เฟด ต่างได้รับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานล่าสุดเป็นที่เรียบร้อย
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ หลังจากวันก่อนเงินบาทได้อ่อนค่า เร็วและแรงมากกว่าที่คาดไว้
ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจสร้างความผันผวนต่อเงินบาทได้ในช่วงที่ตลาดยังขาดรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ คือ โฟลว์ธุรกรรม ทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ
“ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจส่งผลให้ทั้งเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และราคาทองคำ เคลื่อนไหวผันผวน จนกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้”
นายพูนระบุ นายพูน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.00 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
– เงินเยน อยู่ที่ระดับ 143.55 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 144.21/25 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0960 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.0938/0942 ดอลลาร์/ยูโร
– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ระดับ 34.913 บาท/ดอลลาร์
– “เศรษฐา” ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อติดลบ “กิตติรัตน์” ชี้ประชาชนจับตาการประชุม กน ง. 7 ก.พ.นี้ ลดดอกเบี้ย จี้ ธปท.กำกับธนาคารพาณิชย์หลังกำไรพุ่ง ย้ำธนาคารพาณิชย์ควบคุมตัวเองไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามดอกเบี้ย นโยบายก็ได้
-“เงินบาท” อ่อนค่ากว่า 1.3% นำโด่งในภูมิภาค หลังรัฐบาลกดดัน แบงก์ชาติหนัก เหตุขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อที่ติดลบ ด้านตลาดเงินตีความ กนง.ส่อลดดอกเบี้ยปีนี้ลง 0.5% ขณะ “นักค้าเงิน” ประเมินมีปัจจัยเอื้อให้ดึงดอกเบี้ยลงมาได้ มองระยะสั้นเงินบาท ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง ด้าน “คลัง” ระบุชัดดอกเบี้ยขึ้นเร็วจนเงินเฟ้อติดลบ
– “คลัง” ยืนยันแจกเงินดิจิทัล 1 พ.ค.นี้ หลังกฤษฎีการะบุรัฐบาลมีอำนาจออกเงินกู้ เพื่อเดินโครงการ แต่ให้ทำภายใต้ มาตรา 53 และ 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แนะฟังความเห็น ทุกภาคส่วน เร่งรายงาน ครม. 9 ม.ค.นี้ ประชุมบอร์ด เงินดิจิทัล ภายใน 1 สัปดาห์ วัดใจ “เศรษฐา” เดินหน้าแจกเงิน 5 แสนล้าน อาจจบที่ศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกู้เงิน 2 ล้านล้าน
– วงการตลาดหุ้นกู้สะเทือนอีกครั้ง หลัง “ไอทีดี” เตรียมประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 17 ม.ค. นี้ เลื่อนไถ่ถอนไปอีก 2 ปี เพิ่มอัตรา ดอกเบี้ย อีก 0.25-0.50% “บล.ยูโอบี เคย์เฮียนฯ” ชี้เป็นการซื้อเวลา คาดธนาคารปล่อยกู้อาจต้อง ตั้งสำรองเพิ่ม 10-20% “บลจ. เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์” มอง “5 แบงก์” อาจทยอยตั้งสำรองเพิ่ม
– ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินการส่งออกในปี 67 จะขยายตัว 2% จากปี 66 ที่คาด ว่า จะติดลบ 1% มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกไปตลาดหลักและตลาดใหม่ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนการ ขยายตัว เช่น ภาคการผลิตของจีนค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงท้ายๆ ของปี 66 แม้ว่าจะดีขึ้นช้าๆ แต่ดีกว่าปีที่แล้ว ทำให้การส่งออกไปตลาด หลักน่าจะดีขึ้น ขณะที่การส่งออกไปตลาดใหม่ เช่น อินเดีย แอฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง น่าจะเห็นโอกาสอันสดใส
– ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (8 ม. ค.) โดยดอลลาร์ปรับตัวลงตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ร่วงลงหลุดจากระดับ 4% ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของ สหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (8 ม.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการที่นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.ปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งในสัปดาห์ที่แล้ว
– บิตคอยน์ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะลุระดับ 46,000 ดอลลาร์ หรือมากกว่า 1,600,000 บาท โดยได้แรงหนุนจาก คาดการณ์ที่ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) อาจให้การอนุมัติการจัดตั้ง Spot Bitcoin ETF ภายในสัปดาห์นี้
– นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนธ.ค.ของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อประเมินแนวโน้ม เงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและ พลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.2% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.1% ในเดือนพ.ย. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.0% ในเดือนพ.ย.
– ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลการค้าเดือนพ.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนพ.ย., จำนวนผู้ขอรับ สวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนธ.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 67)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท