เงินบาทเปิด 34.82 ทรงตัว ตลาดรอข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯคืนนี้หนุนทิศทาง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงิน บาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.82 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากระดับปิดวันก่อน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเคลื่อนไหวแบบ two-way ซึ่งขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาด ต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยเริ่มเห็นความเสี่ยงด้านอ่อนค่ามากกว่าการแข็งค่า หลังล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยลง -1.25% ในปี 67 โดยจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมี.ค. แต่ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดก็ยังไม่ ได้ชะลอตัวลงชัดเจนมากนัก

“หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯคืนนี้ ออกมาดีกว่าคาด และยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ก็อาจทำให้ ตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ เงินบาทและราคาทองคำย่อตัวลงได้” นายพูน ระบุ

อย่างไรก็ดี หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่ก็ยังติดโซนแนว รับแถว 34.50 บาท/ดอลลาร์ นายพูน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.95 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 147.09 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 147.35 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0970 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.0990 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 34.714 บาท/ดอลลาร์

– บริษัท S&P Global Ratings (S&P) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ ของประเทศไทย (Outlook) ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยให้เหตุผลว่าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว และเติบโต อย่างรวดเร็วจาก 2.5% ในปี 2566 เป็น 4.2% ในปี 2567 เนื่องจากมาตรการทางการคลังและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวม ถึง Real GDP Growth เติบโตเฉลี่ย 3.2% ในช่วงปี 2566-2569 และการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เฉลี่ยต่ำกว่า 4% ในช่วงปี 2567-2569

– กูรูชี้ทองคำยังไม่สิ้นสุดทางขึ้น ลุ้นปี’67 ราคาพุ่งแตะ 35,000 บาท หลังทำสถิติสูงสุดใหม่ 34,100 บาท จากปัจจัยหลัก แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐขาลง รอบ 11 เดือนปี’66 ทองไทยสร้างนิวไฮเป็นประวัติการณ์แล้ว 4 ครั้ง

– กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตร มาส 3/2566 เมื่อวานนี้ (29 พ.ย.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 5.2% ในไตรมาสดังกล่าว ซึ่งเป็นการเติบโตสูงที่สุดนับตั้งแต่ ไตรมาส 4/2564

– ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (29 พ. ย.) หลังสหรัฐปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566

– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ในวันพุธ (29 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการร่วงลงของอัตราผล ตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

– นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนต.ค.ของสหรัฐในวันนี้ โดย ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุม ราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

– FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 98.5% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. 2566

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 66)

Tags: , ,