นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.13 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวในระดับเดียวกับปิดตลาดเย็นวานนี้ ด้านสกุลเงินในภูมิภาคเคลื่อนไหวแข็งค่าเล็กน้อย เมื่อคืนตัวเลขทางฝั่งสหรัฐฯ GDP ไตรมาส 1/66 ออกมาแย่กว่าคาด แต่มาตรวัดเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แกว่งออกข้างเล็กน้อย
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.90 – 34.25 บาท/ดอลลาร์ วันนี้ต้องติดตาม Flow ช่วงสิ้นเดือน ซึ่งอาจมี Flow ฝั่งส่งออกได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ด้วย
THAI BAHT FIX 3M (27 เม.ย.) อยู่ที่ระดับ 1.74764% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 1.88929%
*ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 133.96 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 133.81 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1031 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1047 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 34.104 บาท/ดอลลาร์
- “ก.คลัง” เก็บรายได้รัฐครึ่งปีแรก (ต.ค.65-มี.ค.66) 1.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5 หมื่นล้านบาท หรือ 8.9% “สรรพากร” แชมป์สูงสุด ส่วน “สรรพสามิต” วืดเป้า 15.5%
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าฯ เผยผลสำรวจ พบสูงสุดในรอบ 4 ปี หลังโควิด-19 ซา ชี้เป็นผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น แต่แรงงานยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2566 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียง 1.1% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.0%
- กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 16,000 ราย สู่ระดับ 230,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 249,000 ราย
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (27 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค. แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ที่ต่ำกว่าคาด
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (27 เม.ย.) โดยนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1
- ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐวันนี้ ได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค. ของสหรัฐในวันนี้ โดยดัชนี PCE เป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.
- ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
- นักลงทุนยังคงเทน้ำหนักไปที่การคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2566
- นักลงทุนยังจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งเป็นนัดแรกในฐานะผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นของนายคาซูโอะ อุเอดะ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 66)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท