เงินบาทเปิด 34.10 แนวโน้ม sideway สัปดาห์นี้ลุ้นผลประชุมกนง.-เฟด เคาะดอกเบี้ย

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.10 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปิดสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 34.14 บาท/ดอลลาร์ โดยตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways แม้จะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาทองคำ แต่การอ่อนค่าลงเล็กน้อยของดอลลาร์ รวมถึงแรงขายดอลลาร์ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้บ้าง

ปัจจัยสำคัญฝั่งไทยสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราประเมินว่า กนง.อาจมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.25% แต่อาจส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในกรณีที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้มาก

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทผันผวนสูงในกรอบ Sideways แต่ทิศทางเงินบาทจะขึ้นกับการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ ที่จะขึ้นกับผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และบรรดาธนาคารกลางหลัก

อย่างไรก็ดี ผลการประชุม กนง.อาจไม่ได้กระทบเงินบาทมากนัก ทั้งนี้ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ด้วยนายพูน คาดกรอบเงินบาทวันนี้ จะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.30 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยน อยู่ที่ระดับ 153.76 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 153.39/42 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0519 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0474/0475 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 34.026 บาท/ดอลลาร์
  • พาณิชย์เผยช่วง 11 เดือนแรกปีนี้ สหรัฐตีกลับสินค้าไทย 156 รายการ หลังตรวจพบสารปนเปื้อน-ด้อยคุณภาพ สินค้าอาหารและเกษตรแชมป์ อาทิ ผัก ปลา ถุงยางอนามัย ก็โดนด้วย
  • รมช.คลังเผยสถานการณ์เชื่อมั่นศก.ไทยเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567 ดีขึ้นต่อเนื่องฟุ้งเป็นผลลัพธ์จากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาลเฟสแรก 14.55 ล้านคนส่งผลให้ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค-SME-อุตสาหกรรม” พุ่งขึ้นสามตัวพร้อมกัน
  • “รัฐบาล” เดินหน้าปฏิรูปภาษี ออก พ.ร.ก.ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้บริษัทข้ามชาติเหลือ 15% จ่อเก็บภาษีคาร์บอน ลดภาษีน้ำมัน ศึกษาขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เล็งใช้รูปแบบ ทยอยขึ้นบางรายการ พร้อมศึกษาลดภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา จูงใจคนเก่งทำงานในไทย “คลัง” ยันถึงเวลาปฏิรูป “ทีดีอาร์ไอ” หนุนขึ้น VAT สกัดเสี่ยงภาระคลังเพิ่มอนาคต นักเศรษฐศาสตร์ เห็นด้วย ‘ปฏิรูปฐานภาษี’ ต้องทำคู่ลดขนาดรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บหวังดึงดูดการลงทุน ดึงคนเข้าระบบภาษีมากขึ้น
  • “หอการค้า” หนุนจัดเก็บภาษี นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% เป็นไปตามหลักสากล ชี้ได้ประโยชน์ ทั้งบริษัทในไทยเสียภาษีต่ำลดต้นทุน ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ส.อ.ท.ชี้โมเดลเก็บภาษีเพิ่ม แก้นโยบายขาดดุลการเงิน ส.อ.ท.ไม่ขัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 อัตรา ชี้แนวคิดเก็บภาษีนิติบุคคลต่างชาติ 15% ช่วยดึงนักลงทุนที่ตั้งสำนักงานใหญ่ที่ประเทศ “สิงคโปร์” ที่ปัจจุบันเก็บ 17%
  • รองผู้อำนวยการคณะกรรมการด้านกิจการการเงินและเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางจีนกล่าวในวันนี้ (14 ธ.ค.) ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวราว 5% ในปีนี้
  • ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นแตะระดับ 105,000 ดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ (16 ธ.ค.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากข่าวที่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเดินหน้าจัดตั้งกองทุนสำรองบิตคอยน์ทางยุทธศาสตร์ (Bitcoin Strategic Reserve Rund)
  • ผู้เชี่ยวชาญตั้งเป้าราคาบิตคอยน์ว่าจะสูงถึง 200,000 ดอลลาร์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยมองว่าการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของทรัมป์ และการที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะทำให้ทรัมป์สามารถผลักดันการผ่อนคลายกฎระเบียบในการควบคุมคริปโทเคอร์เรนซี รวมทั้งการทำให้สหรัฐเป็นเมืองหลวงของคริปโทฯ
  • นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่งในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ธนาคารกลางจีน (PBOC) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
  • บรรดาเทรดเดอร์คาดว่า มีโอกาสเพียง 23% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในวันที่ 19 ธ.ค. หลังมีรายงานว่า BOJ จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรอดูการขยายตัวของค่าจ้างและนโยบายของสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
  • เครื่องมือ FedWatch ของ CME บ่งชี้ว่า บรรดานักลงทุนคาดว่า มีโอกาสสูงถึง 97% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนคาดว่ามีโอกาสที่เฟดจะหยุดพักการปรับอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค. 2568
  • ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการ (เบื้องต้น) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสอง และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนพ.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 (final) และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 67)

Tags: ,