นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 33.81 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 33.74 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าหลังได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขดัชนี ISM ภาคบริการออกมาดีเกินคาด และบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
“เปิดตลาดเช้านี้ บาทอ่อนค่าจากเย็นวานนี้ตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากมีปัจจัยหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่า”
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.70 – 33.90 บาทดอลลาร์ โดยมีปัจจัยที่ตลาดติดตามคือ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ
THAI BAHT FIX 3M (5 ต.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.31238% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.33255%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 111.59 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 111.16 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1593 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.1599 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.808 บาท
- ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า บริษัท เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (เอสแอนด์พี) ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่บีบีบีบวก และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ มองว่าภาคการคลังสาธารณะยังแข็งแกร่ง แม้การดำเนินนโยบายการคลังผ่านมาตรการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด จะทำให้การขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64-65 และหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น
- “ธปท.” ร่อนหนังสือเวียนแจงหลักเกณฑ์-กฎหมายคุมปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรม วางแนวทางแบงก์ปรับใช้ดูแลลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ด้าน “ออมสิน-ไอแบงก์” สั่งพักหนี้ช่วยลูกค้าอ่วมพิษน้ำท่วม
- รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคนใหม่ เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจซี่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้น 4.2% สู่ระดับ 7.33 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 7.05 หมื่นล้านดอลลาร์
- สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 61.9 ในเดือนก.ย. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 60.0 จากระดับ 61.7 ในเดือนส.ค.
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 ต.ค.) ขานรับดัชนีภาคบริการของสหรัฐที่ขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาดในเดือนก.ย. ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (5 ต.ค.) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงวันแรกในรอบ 4 วันทำการ โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
- รัฐมนตรีคลังสหรัฐ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากสภาคองเกรสไม่ขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลกลาง เพื่อช่วยให้สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
- ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า IMF อาจทำการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
- นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้ในการพิจารณาการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทางด้านนักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของ FactSet คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 475,000 ตำแหน่ง ซึ่งดีกว่าในเดือนส.ค.ที่เพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 64)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท