นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 33.24 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 33.23/25 บาท/ดอลลาร์ โดยดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเยนและยูโร แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ตลาดยังขาดปัจจัยใหม่ ส่วนสถานการณ์โควิด-19 นั้นตลาดเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
“เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ทรงตัวเท่ากับช่วงเย็นวานนี้ ตลาดรอปัจจัยใหม่เข้ามา ปัจจัยวันนี้น่าจะมาจาก Fund Flow ที่เข้ามาในตลาดหุ้นและพันธบัตร”
นักบริหารเงิน ระบุ
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 33.20 – 33.35 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (13 ม.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.27193% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.31454%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 114.10 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 114.53/56 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1451 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1469/73 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.238 บาท/ดอลลาร์
- “นายกฯ” ห่วงราคาสินค้าแพง กระทบค่าครองชีพ ปชช. มอบ “พาณิชย์-พลังงาน” ดูแลเร่งด่วน “สุพัฒนพงษ์” คาดเงินเฟ้อปีนี้อยู่ในกรอบ 1-3% ระบุหากขยับเกินกรอบ ต้องวางมาตรการเพิ่ม แย้มขยับ “คนละครึ่ง” เฟส 4 เร็วขึ้น พร้อมอัดนโยบายอื่นหากจำเป็น
- รัฐพลิกเกมสู้ค่าครองชีพพุ่งเร่งคลอด “คนละครึ่ง-บัตรคนจน-กลุ่มเปราะบาง” เร็วกว่ากำหนดเดิม รับมือสินค้าแพง คลังแบไต๋ ไฟเขียว “คนละครึ่ง เฟส 4” เร็วขึ้น แบ่งเบาภาระประชาชนรับมือโอมิครอน
- นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือกับ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รมว.เศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) ว่า ญี่ปุ่นยังให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยยังเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญกับประเทศญี่ปุ่น และพร้อมสนับสนุนด้านการลงทุนต่อเนื่องหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว ทั้งอุตสาหกรรมเดิมที่ญี่ปุ่นมีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เตรียมขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง รวมไปถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบีซีจีด้วย
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 23,000 ราย สู่ระดับ 230,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2564 และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 200,000 ราย
- ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งขึ้น 9.7% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย.2553 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.8% หลังจากดีดตัวขึ้น 9.6% ในเดือนพ.ย. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ย.
- ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (13 ม.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2564
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (13 ม.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.
- ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญวันนี้ สหรัฐจะมีการรายงานยอดค้าปลีกเดือนธ.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนม.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 65)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท