เงินบาทเปิด 33.15 อ่อนค่าจากวานนี้เกาะกลุ่มภูมิภาค ให้กรอบวันนี้ 33.10-33.25

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 33.15 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าต่อเนื่องจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 33.04 บาท/ดอลลาร์ หลังดอลลาร์แข็งค่าเนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากยอดค้าปลีกเดือน ส.ค.ของสหรัฐปรับขึ้นสูงเกินคาด, บอนด์ยิลด์ปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาทองคำปรับตัวลดลง

“บาทอ่อนค่าเกาะกลุ่มภูมิภาค หลังดอลลาร์แข็งค่าเนื่องจากยอดค้าปลีกออกมาดีเกินคาดจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะติดลบแต่ออกมาเป็นบวก ขณะที่บอนด์ยิลด์ขยับเพิ่มขึ้น และราคาทองลดลงมากถึง 38 ดอลลาร์/ออนซ์”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.10-33.25 บาท/ดอลลาร์

“วันนี้บาทมีแนวโน้มอ่อนค่าจากโฟล์วไหลออกหลังนักลงทุนต่างประเทศขายพันธบัตรและแรงซื้อดอลลาร์จากผู้นำเข้าทองคำ”

นักบริหารเงิน กล่าว

THAI BAHT FIX 3M (16 ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.32441% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.31344%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 109.79 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 109.41 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1759 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1770 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.926 บาท/ดอลลาร์
  • ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยนายกฯ สั่งให้ทุกฝ่ายต้องพยายามช่วยกันขับเคลื่อนให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือ การเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความยากจน ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยต้องพลิกโฉมประเทศไทยให้ได้ในระยะเวลาที่รัฐบาลยังทำหน้าที่อยู่ และส่งมอบต่อไปในอนาคตด้วย
  • ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาครัฐควรสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยให้เป็น 4.0 และควรจัดสรรเงินเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 สู่มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี เพื่อใช้เทคโนโลยีอินดัสทรี อินเทอร์เน็ต ออฟ ติงส์ หรือไอไอโอทีมากขึ้น เนื่องจากเอสเอ็มอีต้องเจอเรื่องของเงินทุน อาจสนับสนุนเป็นโครงการเงินทุนคนละครึ่ง และใช้ดิจิทัล แพลตฟอร์ม โดยไม่จำเป็นต้องให้เอสเอ็มอีสำรองจ่ายเงินไปก่อน เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านเงินทุนอย่างแท้จริง
  • ดีเดย์ 24 ก.ย. เปิดลงทะเบียน ‘เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3’ และ ‘ทัวร์เที่ยวไทย’ รัฐออกค่าห้อง-ตั๋วเครื่องบินให้40% ไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/คืน คูปองอาหาร 600 บาท/วัน ส่วนทัวร์เที่ยวไทยจองแพ็กเกจท่องเที่ยวรัฐช่วยออกสูงสุด 5,000 บาทให้สิทธิ์คนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป เริ่มเที่ยวกลางเดือนต.ค.
  • ม.หอการค้าไทย คาดเปิดกรุงเทพฯ 15 ต.ค. ดันเงินสะพัด 2-3 หมื่นล้าน ช่วยกระตุกเศรษฐกิจปลายปี เอกชนประสานเสียง หนุนทยอย “เปิดเมือง” ต.ค.นี้ แต่ต้องมีมาตรการคุมเข้มการระบาด ขณะที่สมาคมโรงแรมไทยอยากให้ร่นเปิดกรุงเทพฯ เป็น 10 ต.ค. เพื่อครอบคลุมวันหยุดพิเศษ ด้าน ททท.ยันออกมาตรฐานให้ทันแน่ ย้ำเปิดกรุงเทพฯ เร็วกว่า 15 ต.ค. ไม่ได้ต้องรอคนฉีดวัคซีนครบ 70% ก่อน
  • กระทรวงพาณิชย์ของจีนแถลงว่า จีนได้สมัครเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) อย่างเป็นทางการในวันนี้ หากจีนสามารถเข้าร่วม CPTPP จะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจของ 12 ประเทศในกลุ่มเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของทั้งโลก จากเดิมที่ระดับ 10%
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ปรับตัวขึ้น 0.7% เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.8% และเมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 15.1% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในช่วงก่อนเปิดเทอมการศึกษาในสหรัฐ
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก พุ่งขึ้นสู่ระดับ 30.7 ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 18.7 จากระดับ 19.4 ในเดือนส.ค. โดยการพุ่งขึ้นของดัชนีได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดในเดือนส.ค. ซึ่งช่วยคลายความวิตกเกี่ยวการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้นักลงทุนคาดว่า ยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งอาจเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% หลุดจากระดับ 1,760 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (16 ก.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด
  • นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย.นี้ เพื่อหาสัญญาณการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 64)

Tags: , ,