นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.14 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 33.04 บาท/ดอลลาร์
เช้านี้เงินบาทอ่อนค่าจากเย็นวาน เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้อาจจะมี flow นำเข้าทองคำจากทางฝั่งผู้ค้าทองในประเทศ
“ช่วงนี้ต้องติดตามราคาทองคำ น้ำมัน รวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้าย ตอนนี้เงินที่เข้ามาทางฝั่งบอนด์ก็แผ่วๆ ลง ขณะเดียวกันต้องดูสถานการณ์โควิดที่ระบาดทางฝั่งยุโรปด้วย เพราะน่าจะมีผลต่อการท่องเที่ยวของไทยช่วงไฮซีซั่นอยู่บ้าง”
นักบริหารเงินระบุ
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.00 – 33.20 บาท/ดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตามในคืนนี้ ส่วนใหญ่เป็นการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ เช่น GDP ไตรมาส 3/62 (ประมาณการครั้งที่ 2) ยอดการขายบ้านใหม่เดือน ต.ค., รวมทั้งรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 2-3 พ.ย.
THAI BAHT FIX 3M (23 พ.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.24442% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.28989%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 115.20 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 114.68 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1244 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.1270 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.071 บาท/ดอลลาร์
- รายงานข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวยั่งยืน โดยมีทั้งมาตรการรวมหนี้, รีไฟแนนซ์, และปรับคุณสมบัติโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยออกมาตรการมาสอดคล้องกับ ธปท.แล้ว เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจต้องการฟื้นฟู
- ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยในงานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย บรรยายเรื่องภาวะหนี้ครัวเรือนปัจจุบัน : มุมมองจากเครดิตบูโร ว่า หนี้ครัวเรือนไทยตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานมี 14.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ต่อจีดีพี แต่ถ้าดูตามนิยามของเครดิตบูโรหนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) คือค้างจ่ายเกิน 90 วันนับรวมทั้งหมดไม่ว่าจะสำรองหนี้เต็ม และยังไม่ขายออกไปเอ็นพีแอลสูง 8.1% หรือ 9.7 แสนล้านบาท
- “ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย” เผยนักลงทุนแห่ซื้อ 5 ผลิตภัณฑ์ หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง-หุ้นกู้ตลาดแรก-หุ้นกู้ตลาดรอง-กองทุนรวม-ประกัน” รวมเม็ดเงินลงทุนใหม่กว่า 1 แสนล้าน ทะลุเป้า ดัน “เอยูเอ็ม” พุ่ง
- 3 ธนาคารรัฐ ธอส.-ออมสิน-กรุงไทย รับนโยบายลดภาระผล กระทบจากโควิด อัดมาตรการทุกรูปแบบ พักชำระหนี้ รวมหนี้ กู้ปีนี้ผ่อนปีหน้า แปลงหนี้เป็นทุน พร้อมขยายเวลาถึงสิ้นปี
- รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ยังมั่นใจว่าการส่งออกของประเทศไทยตลอดทั้งปีนี้มีโอกาสจะเติบโตได้ในระดับ 15-16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากล่าสุดการส่งออกของประเทศไทย 10 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 222,736 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 15.7% และในช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือปีนี้มีคำสั่งซื้อที่เข้ามาต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้าที่จะรองรับเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกสั่งซื้อสินค้าอาหาร เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ของขวัญจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
- ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 56.5 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 57.6 ในเดือนต.ค.
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เลือกนายเจอโรม พาวเวล ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อไป ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์กันว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ขณะที่บรรดาเทรดเดอร์ในตลาดเงินได้ปรับตัวรับโอกาส 100% ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.10% ในเดือนธ.ค. 2565
- ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 พ.ย.)หลังจากไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐชะลอตัวลง
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (23 พ.ย.) โดยราคาทองดิ่งหลุดจากระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1,800 ดอลลาร์ เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าการที่นายเจอโรม พาวเวล ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสมัยที่ 2 จะส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
- ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนต.ค., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2564 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดขายบ้านใหม่เดือนต.ค., รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนต.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนต.ค., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือนพ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และรายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 2-3 พ.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 64)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท