นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.93/95 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเย็นวานที่ปิดตลาดที่ระดับ 33.05 บาท/ดอลลาร์
วันนี้คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ โดยตลาดรอติดตามผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันพรุ่งนี้ และเชื่อว่ารอบนี้ กนง.ยังคงดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ตลาดรอดูการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐเดือนม.ค. 65 ในสัปดาห์นี้เช่นกัน
“วันนี้บาทคงอยู่ในกรอบแคบๆ ยังไม่มีปัจจัยใหม่ รอดูประชุม กนง. แต่ก็เชื่อว่าน่าจะคงดอกเบี้ยไว้ เพราะไม่มีการส่งสัญญาณอะไรออกมา ส่วนต่างประเทศ รอดูเงินเฟ้อสหรัฐวันพฤหัสนี้ เพราะตลาดมองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อยังสูง ซึ่งจะมีผลต่อการประชุมเฟดเดือนมี.ค.ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเท่าไร 0.25% หรือ 0.50%” นักบริหารเงิน ระบุ
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.85 – 33.05 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (7 ก.พ.) อยู่ที่ระดับ 0.36539% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.43523%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 115.25/30 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 115.04 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1400/1450 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.1420 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.943 บาท/ดอลลาร์
- ผู้อำนวยการและผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ คาดว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% อีกครั้ง แม้กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค.พบว่า เพิ่มขึ้นอัตราสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 3.23% ก็ตาม แต่สาเหตุหลักเงินเฟ้อเพิ่มจากต้นทุนด้านพลังงานเป็นหลัก ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.52% และเชื่อว่าทิศทางค่าเงินบาทจะมีผลบวกจากกระแสข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดไม่ล็อกดาวน์และเริ่มให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ
- FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นอีก 3 เดือนข้างหน้าทรุดลง 27.5% หลังกังวลความไม่แน่นอนของนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
- “ททท.” กางยอดขอ “ไทยแลนด์พาส” สะสม 5 วันแรก 1-5 ก.พ. กว่า 1.05 แสนคน ได้รับอนุมัติสะสมแล้ว 8.65
หมื่นคน หลังรัฐบาลรีเทิร์นเปิดระบบรับลงทะเบียนนักท่องเที่ยว Test & Go ด้านนายก “สมาคมโรงแรมไทย” คาดยอดนักท่องเที่ยวเดือน ก.พ.ฟื้นตัวเท่า ธ.ค.64 วอน “คลัง” ผ่อนปรนและยืดเวลาเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอย่างน้อย 2 ปี อุ้มธุรกิจโรงแรม - สำนักงานสถิติแห่งชาติโชว์ตัวเลขจำนวนคนว่างงานเมื่อไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาพบ มีจำนวน 630,000 คน ดีขึ้นจากไตรมาส 3 แต่ยังน่าห่วงผู้เสมือนการว่างงานมีมากถึง 2.6 ล้านคน ลุ้นระทึก ปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ชี้โควิด-19 ทำโครงสร้างตลาดแรงงานเปลี่ยนไป
- ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (7 ก.พ.) ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งอาจบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันจันทร์ (7 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
- นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยดัชนี CPI เดือนม.ค.ในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI จะพุ่งขึ้น 7.2% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2525
- นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีในวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากที่เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 35% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 14%
- ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนม.ค.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB), ดุลการค้าเดือนธ.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
- นักลงทุนจับตาสถานการณ์ในยูเครนอย่างใกล้ชิด โดยสหรัฐเปิดเผยว่า กองทัพรัสเซียกำลังตรึงกำลังทหารราว 100,000 นายตามแนวชายแดนยูเครน และการบุกโจมตีอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 65)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท