นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.12 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวานนี้ที่ระดับ 32.02 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนกลับมากังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแล้วมาถือครองดอลลาร์กับเยนมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องจับตาดูทิศทางของเงินทุนต่างประเทศจากผู้นำเข้าทองคำหลังราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลงกว่า 17 ดอลลาร์/ออนซ์
“บาทอ่อนค่าต่อเนื่องหลังทะลุแนวต้าน 32.00 บาท/ดอลลาร์จากความกังวลเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง”
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 32.00 – 32.20 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (29 มิ.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.26266% ส่วน THAI BAHT FIX 6M 0.27770%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 110.57 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 110.59 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1904 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1901 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงระดับระหว่างธนาคารอยู่ที่ระดับ 31.012 บาท/ดอลลาร์
- รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง โดยให้ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 ตามความสมัครใจ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยลูกหนี้แต่ละรายที่มีปัญหาสามารถติดต่อทางธนาคารเจ้าหนี้ได้เพื่อทำการปรับโครงสร้างหนี้ได้ ทั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ขณะนี้ยังมีวงเงินเป้าหมายสำหรับการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกรวม 104,000 ล้านบาท
- ธปท.เผย คนไทย ออกไปลงทุนต่างประเทศนิวไฮ 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมเฉลี่ย 3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หลังปรับเกณฑ์ดูแลค่าเงิน เล็งออกมาตรการสร้างสมดุลตลาด อัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มไตรมาส 3 ปีนี้
- “พาณิชย์” ปลื้มยอดค้าชายแดน 5 เดือน โตพรวด 29.15% ทะลุ 6.77 แสนล้านบาท หลังเร่งเปิดด่านชายแดน-เศรษฐกิจเพื่อนบ้านฟื้นตัว เล็งเปิดเพิ่มอีก 11 ด้าน ด้าน “กรุงศรี” คาด กนง.ตรึงดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำยาวถึงปีหน้า ชี้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้น มีลุ้นหนุนส่งออกปีนี้โตทะลุเป้าหมาย
- “เวิลด์แบงก์” ชี้ตลาดแรงงานไทยอ่วมพิษโควิด-19 ตำแหน่งงาน-ชั่วโมงทำงานลดฮวบ สวนทางประชากรสูงวัยขยับเพิ่ม หวั่นกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาว กระทุ้งรัฐเร่งผุดนโยบายบริหารจัดการ ด้าน “ธปท.” รับบาทอ่อนตามภูมิภาค หลังการระบาดยืดเยื้อกดดัน
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ให้หยุดงานก่อสร้างอย่างน้อย 30 วัน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร รวมถึงการขายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้เปิดเฉพาะนำกลับไปทานที่อื่น โดยให้เริ่มตั้งแต่ 28 มิ.ย.64 ตามมาด้วยการออกมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อลูกจ้างและนายจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคมรวม 7,500 ล้านบาท คาดผลกระทบมูลค่าธุรกิจก่อสร้างและยอดขายร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลา 1 เดือน เสียหายไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือ 0.25% ของจีดีพี โดยมาตรการเยียวยาของภาครัฐมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบในระดับหนึ่งเท่านั้น
- กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ 8 เดือนของปีงบประมาณ 64 (ต.ค.63-พ.ค.64) ยังเก็บต่ำกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยจัดเก็บที่ 1.44 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 98,672 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 58,035 ล้านบาท หรือ 3.9% โดยพบว่ายอดจัดเก็บรายได้ติดลบลงทุกรายการโดยเฉพาะจาก 3 กรมภาษี กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เก็บรายได้รวมกัน 1.5 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 11,711 ล้านบาท และต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 181,712 ล้านบาท
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้สศค.เตรียมเสนอกระทรวงการคลังเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในการพิจารณาขยายระยะเวลาใช้จ่ายที่จะได้รับ e-Voucher ของโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ใหม่ จากแต่เดิมสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย.2564 พร้อมทั้งขยายยอดใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ต่อวัน จากเดิม 5,000 บาทต่อคนต่อวัน เป็น 10,000 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งการขยายยอดใช้จ่ายดังกล่าวจะเริ่มวันที่ 15 ก.ค.2564
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย และเทขายสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งรวมถึงดอลลาร์ออสเตรเลียและยูโร
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 1% เมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
- ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 14.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้ซื้อบ้าน และสต็อกบ้านที่ตึงตัว
- ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย.จาก ADP, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ดุลการค้าเดือนพ.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค.
- นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 683,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. สูงกว่าในเดือนพ.ค.ที่เพิ่มขึ้นเพียง 559,000 ตำแหน่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 64)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท