นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.22 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาดเมื่อเช้าอยู่ที่ระดับ 33.14 บาท/ดอลลาร์ โดยวันนี้เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 ปี 9 เดือน จากแรงซื้อดอลลาร์เข้ามาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางวัน รวมทั้งคาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศยังมีแนวโน้มแย่ลง ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.07-33.22 บาท/ดอลลาร์
“วันนี้บาทอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาค โดยปิดตลาดทำนิวไฮในรอบ 2 ปี 9 เดือน ส่วนภูมิภาควันนี้ค่อนข้างผสม มีบางสกุลเงินอ่อนค่า และบางสกุลเงินแข็งค่า”
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 33.15 – 33.30 บาท/ดอลลาร์
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ คืนนี้มีการประกาศจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ และคืนพรุ่งนี้ต้อง
ติดตาม ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค.ของสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 109.58 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 109.64 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1830 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1833 ดอลลาร์/ยูโร
- ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,527.66 จุด ลดลง 18.20 จุด, -1.18% มูลค่าการซื้อขาย 81,298.00 ล้านบาท
- สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 5,074.70 ล้านบาท (SET+MAI)
- ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการล็อกดาวน์นั้น ประเมินว่าในระยะ 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) จะกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจย่อตัวลงอีกราว 2-3% จากที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวเหลือ -2 ถึง 0% ได้การประมาณการดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานว่ารัฐบาลจะสามารถผ่อนคลายมาตรการลงได้ในเดือนก.ย. รวมทั้งหากรัฐบาลเร่งอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชน ภาคเกษตรกร และภาคธุรกิจ เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็อาจจะไม่ติดลบมาก และยังพอมีโอกาสที่จะเป็นบวกได้เล็กน้อย แต่หากมาตรการล็อกดาวน์ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ และจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ไปต่อเนื่อง ก็อาจจะได้เห็นเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัว -2 ถึง -4% ได้เช่นกัน
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.ค.64 ปรับตัวลดลงมาที่ 40.9 จากระดับ 43.1 ในเดือนมิ.ย.64 โดยดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 10 เดือน และยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 64 และปี 65 แต่โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งภายในปีนี้มีมากขึ้นเช่นกัน
- กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนก.ค.64 อยู่ที่ 99.81 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.45% เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เป็นผลจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาล และการลดลงของราคาอาหารสดบางประเภท ที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.83% กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7 – 1.7% (ค่ากลาง 1.2%) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนตัวเลขดังกล่าวอีกครั้ง
- รัฐมนตรีคลังสหรัฐคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อรายเดือนของสหรัฐจะชะลอตัวลงภายในสิ้นปี 2564 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อรายปียังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาด
- รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการควบคุมการเดินทางครั้งใหม่ เนื่องจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้แพร่ระบาดในจีนแล้วเกือบครึ่งประเทศ ขณะที่รายงานระบุว่า จีนพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาจำนวนกว่า 500 รายในขณะนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 64)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท