เครือข่ายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค้านร่างประกาศให้ปิดรูปคำเตือนรุนแรงหวั่นกระทบท่องเที่ยว-อาหารเครื่องดื่มไทย

กรณีสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ ร่าง ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. …. และเปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ของระบบกล่างทางกฎหมาย www.law.go.th ระหว่างวันที่ 12 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น

สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบด้วย สมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ นายกสมาคมบาร์เทนเดอร์ประเทศไทยผู้ประกอบการท่องเที่ยวไร่องุ่นและผลิตไวน์องุ่นภายใต้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ไวน์เขาใหญ่” ผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชน ผู้ประกอบการร้านอาหารและบาร์ ต่างออกมาคัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างประกาศฯ ดังกล่าว

เนื่องจากจะสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และด้อยค่าภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่รัฐตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวที่คุณภาพและมีกำลังซื้อสูงให้เข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยที่การบังคับให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องปิดรูปภาพคำเตือนที่มีลักษณะเป็นภาพถ่ายแสดงความรุนแรง หรืออุบัติเหตุและโรคภัย ซึ่งไม่เป็นสากลและขาดความเป็นศิวิไลซ์ขนาดใหญ่ลงบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ ถือเป็นการจงใจทำลายภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ “อาหาร” โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) และองค์การ อนามัยโลก(WHO) และทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย อยู่คู่กับวัฒนธรรมของมนุษยชาติมาช้านาน

โดยร่างกฎหมายนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและสร้างความถดถอยต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุตสาหกรรมหรือการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม สถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านอาหาร ภัตตาคาร นอกจากนี้ยังด้อยค่าภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ย้อนแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติในการสนับสนุนนวัตกรรม ผู้ประกอบการรายย่อย และการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางระดับพรีเมียมของโลก หรือการเป็นครัวโลก รวมถึงยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านท่องเที่ยวและด้านอาหาร สร้างภาระความเดือนร้อน รวมถึงละเมิดสิทธิผู้ประกอบการ ประชาชน ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยวเกินจำเป็น

พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมักมีลักษณะล้าสมัย คลุมเครือ หมดความจำเป็น และมีการให้สินบนรางวัลพนักงานเจ้าหน้าที่ถึงกว่า 60%-80% ของค่าปรับโดยเร็ว จะต้องเปลี่ยนผ่านจากการ “ห้ามโดยใช้อคติ” หรือขาดเหตุผลหรือผลการศึกษาที่เป็นกลางมารองรับ เป็น “การกำกับดูแล” อย่างเหมาะสมและสมดุลกับสถานการณ์ความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ที่มีการท่องเที่ยวทั้งภาคกลางวันและภาคกลางคืน รวมถึงภาคธุรกิจบริการเป็นแก่นในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจ และการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีและมีความเท่าเที่ยมกันยิ่งขึ้น จะต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับการดื่มแล้วขับ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์หรือผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่อยู่ และการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ อย่างเคร่งครัด

และที่สำคัญภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจะต้องบูรณาการความร่วมมือในการให้การศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงโทษภัยของการดื่มอย่างเป็นอันตราย โดยเฉพาะเมาแล้วขับ ดื่มก่อนวัยอันควร และดื่มจนเกินพอดี เพื่อสร้างวัฒนธรรมการดื่มอย่างรับผิดชอบและพอดี อันเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีสาเหตุจากการดื่มอย่างเป็นอันตรายที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่ก่ออันตรายมิใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เป็นพฤติกรรมที่ขาดความรู้หรือความรับผิดชอบของคนส่วนน้อยบางกลุ่ม

ทางเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสมาคมต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการและสมาชิกที่ให้ความสนใจ ได้นัดรวมตัวกันที่ร้าน Hop & Hope ในวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อพูดคุย เสวนา มีประเด็นหลักเพื่อแสดงตัวคัดค้านร่าง ชี้แจงข้อมูลและผลักดันให้สมาชิกได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว โดยแบ่งการเสวนาเป็นสองส่วน คือ ช่วงพูดคุยกับผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง มีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน ได้แก่ นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA), นายณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ กรรมการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์, นางสาวสุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไร่องุ่นและผลิตไวน์องุ่น, นายทวีชัย ทองรอด ผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชน “สังเวียน” และช่วงพูดคุยกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนักวิชาการ มีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร. เจริญ เจริญชัย นักวิชาการ และผู้เสนอร่าง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ…., นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร, นายพงษ์พันธุ์ สืบแสงไทย นายกสมาคมบาร์เทนเดอร์ประเทศไทย

นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยและยืนยัน มาตลอดว่าร่างกฎหมายภาพคำเตือนเป็นกฎหมายที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่ก็เชื่อโดยสุจริตใจว่ารัฐบาลจะพิจารณายับยั้งและยกเลิก ร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยเหตุที่จะทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาล ภาพพจน์การท่องเที่ยวและประเทศ รวมถึงสร้างผลกระทบในวง กว้างต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมในซัพพลายเชนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวม

“เรากังวลเป็นอย่างมากที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบออกกฎหมายนี้มา ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นกลางในการพิสูจน์ ได้ว่าการใช้ภาพที่น่าสลดหดหู่ ไม่ศิวิไลซ์ และมีขนาดใหญ่มาปิดจนเกือบเต็มพื้นที่ขวด กระป๋อง กล่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วย ลดและป้องกันปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตรายได้”

นอกจากนี้ผู้ออกกฎหมายไม่ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment หรือ RIA) เพื่อพิสูจน์ความจำเป็นและความคุ้มค่าในการออกกฎหมายที่ต้องแลกกับความเดือดร้อนร้ายแรงของผู้บริโภคและผู้ประกอบการตามที่ประเทศสมาชิกของ WTO เคยแสดงความกังวลไว้แล้วก่อนหน้านี้สมาคมฯ เห็นว่าการที่หน่วยงานรัฐใช้วิธีเร่งรีบออกกฎหมายใหม่ที่มีลักษณะสุดโต่งมาเรื่อยๆ เป็นการแก้ปัญหาหาที่ไม่ถูกจุด นโยบายและ กฎหมายที่ดีจะต้องสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้บรรลุผลไปพร้อมกัน รัฐบาลควรจะบังคับใช้ กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างเคร่งครัด รวมถึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความ ตระหนักรู้และความรับผิดชอบต่อสังคมอันเป็นการแก้ปัญหาหาการดื่มอย่างเป็นอันตรายที่มีประสิทธิผลและยั่งยืน

นางสาวสุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไร่องุ่นและผลิตไวน์องุ่น ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันกฎหมาย หลักเกณฑ์ฉลากที่บังคับใช้อยู่ก็เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการมากพออยู่แล้ว เหรียญรางวัลถูกห้ามไม่ให้แสดง เช่นเดียวกับความภาคภูมิใจที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ไวน์เขาใหญ่” ยังไม่นับรวมการห้ามขายระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น. ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไกลมาถึงไร่ของเราที่เขาใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าวต้องผิดหวัง หงุดหงิด และไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่ขาย หรือ ทำไมไม่สามารถซื้อไวน์กลับบ้านหรือซื้อดื่มที่ร้านอาหารในไร่ได้

ส่วนมาตรการห้ามการโฆษณาทำให้เราไม่สามารถโฆษณาไวน์ที่เรา ภาคภูมิใจหรือโปรโมตการท่องเที่ยวไร่ไวน์องุ่นได้อย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่สถานที่ของเราไม่เป็นรองใครในภูมิภาคอาเซียน ผู้ประกอบการ ข่าวประชาสัมพันธ์ เสียโอกาสในการทำธุรกิจ นักท่องเที่ยว ผู้บริโภคเสียอารมณ์ รัฐเสียรายได้ และหากมีการออกกฎหมายให้ปิดภาพที่ไม่น่าดูและไม่ สร้างสรรค์ขนาดใหญ่ลงบนขวดไวน์หรือขวดเครื่องดื่มใดๆ ก็ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ไวน์ถูกรังสรรค์ปรุงแต่งด้วยความรักและ ศิลปะ ดื่มด้วยสุนทรียะ นักท่องเที่ยวที่มาดื่มหรือซื้อเของฝากจากไร่องุ่นต่างเป็นผู้ที่รักและชื่นชอบในศิลปะการดื่มไวน์ การปิดภาพขนาดใหญ่ที่ไม่น่าดูและคำเตือนซ้ำๆ ขนาดใหญ่บนขวดไวน์ เป็นการทำร้ายธุรกิจของเราอย่างครบวงจร กระทบทั้งการผลิตไวน์ กระทบไวน์ที่เราตั้งใจรังสรรค์กว่าทศวรรษ การท่องเที่ยวไร่ และร้านอาหาร เพราะคงไม่มีใครเสียเงินซื้อของที่มีภาพน่าเกลียดน่ากลัว

ผศ.ดร. เจริญ เจริญชัย นักวิชาการด้านเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม และผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ พ.ศ… กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าฉงนที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) นำร่างกฎหมายฉลาก และภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมา ทั้งที่เคยถูกที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติครั้งที่ 1/2557 วันที่ 24 ธันวาคม 2557 ปัดตก เนื่องจากประเด็นความไม่สอดคล้องกับข้อตกลงและหลักการการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความไม่เหมาะสมและไม่เป็นสากลของภาพคำเตือนที่เสนอใช้และให้พิจารณาใช้กราฟฟิกสัญลักษณ์”ดื่มไม่ขับ” และ “ไม่ดื่ม ขณะตั้งครรภ์” ที่ประเทศทั่วโลกใช้อยู่ ซึ่งผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าได้นำกราฟฟิกสัญลักษณ์ทั้ง 2 มาใส่บน ข่าวประชาสัมพันธ์ ฉลากแล้วด้วยความสมัครใจตั้งแต่หลายปีก่อน

ร่างกฎหมายนี้มีความพยายามทำลายอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบิดเบือน ภาพลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในฐานะ “อาหาร” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และ Codex (Codex Alimentarius Commission) ให้ไปเป็นสิ่งมีพิษ จึงนำกฎหมายและภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบมาบังคับใช้ ซึ่งเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และยาสูบมีคุณลักษณะและการบริโภคที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถือเป็นการออกกฎหมายที่ไม่รอบคอบ ทำร้ายอุตสาหกรรม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรงแรม ร้านอาหาร ท่องเที่ยวและบริการ ในวงกว้าง รวมถึงทำลายภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว อาหารและ เครื่องดื่มของไทยอย่างสิ้นเชิง ทำให้ประเทศเรากลายเป็นตัวตลกในสายตาคนทั่วโลก

นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร แสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายดังกล่าวว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเมืองไทย รวมถึงชาวต่างชาติหรือ expat ที่ทำงานและอาศัยอยู่ในเมืองไทยต่างชื่นชอบประเทศไทย โดยเฉพาะอาหารที่มีให้เลือกรับประทานอย่างหลากหลาย ไม่เฉพาะอาหารไทยซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่มีอาหารของต่างประเทศ เสิร์ฟและขาย ตั้งแต่ระดับ street food ไปจนถึง fine dinning ระดับ 6 ดาว และอย่างที่ทราบว่าวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยว ต่างชาติและ expat เหล่านี้ที่จะรับประทานอาหารควบคู่กับการดื่ม หรือดื่มก่อนหรือหลังอาหารเพื่อพูดคุยสังสรรค์

การที่หน่วยงานของรัฐจะออกกฎโดยให้ติดภาพที่ไม่น่าดูอย่างอาการเจ็บป่วยโรคภัย ความรุนแรง อุบัติเหตุ เต็มพื้นที่ขวดเหล้า เบียร์ ไวน์ แชมเปญ จะทำลายภาพลักษณ์ประเทศ เศรษฐกิจการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในวงกว้าง นักท่องเที่ยวคงไม่มีทางเข้าใจได้ว่าติดภาพหรือข้อความเต็มขวดเพื่ออะไร แต่คงไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดรู้สึกดีที่จะเห็นภาพเหล่านั้นบนโต๊ะอาหาร ในโรงแรม หรือร้านอาหาร และอาจมองว่าเป็นกฎหมายและมาตรการที่น่าขบขันและไม่เหมาะสม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีประเทศใดในโลกทำมา ก่อนหรือกล้าที่จะทำ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อภาพพจน์การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรม อาหารและเครื่องดื่มหากนำภาพคำเตือนนี้มาใช้จริง นอกจากนี้ อยากขอให้ยกเลิกการห้ามขายช่วงเวลา 14.00 – 17.00 น. เพื่อ สนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการให้เติบโต

ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. …. เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ของระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ระหว่างวันที่ 12 – 29 กุมภาพันธ์ 2567

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.พ. 67)

Tags: , , ,