การประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ได้ปิดฉากลงแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยการประชุมในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Structural Shifts in the Global Economy”
ในการประชุมครั้งนี้ ประธานธนาคารกลางและผู้ว่าการธนาคารกลางระดับแนวหน้าของโลกต่างก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน
“พาวเวล” ปิดทางลดดอกเบี้ย ส่งสัญญาณอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อ เหตุเงินเฟ้อยังสูง
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวว่า เงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอยู่สูงเกินไป และเฟดเตรียมการที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
“แม้ว่าเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงจากระดับสูงสุด ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดี แต่ก็ยังคงอยู่สูงเกินไป โดยเราเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหากมีความเหมาะสม และจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง จนกว่าเรามีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงอย่างยั่งยืนไปสู่เป้าหมายที่เรากำหนดไว้” นายพาวเวลกล่าวในการประชุมแจ็กสัน โฮล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (25 ส.ค.)
ทั้งนี้ นายพาวเวลยอมรับว่า การดำเนินการของเฟดมีความเสี่ยง 2 ด้าน คือดำเนินการมากเกินไปและน้อยเกินไป โดยการดำเนินการน้อยเกินไปจะทำให้เงินเฟ้อที่อยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดฝังตัวลึก และจะยิ่งทำให้เฟดต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อขจัดเงินเฟ้อออกจากเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ส่วนการดำเนินการที่มากเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ นายพาวเวลไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดกำลังพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด โดยระบุแต่เพียงว่า ในการประชุมที่จะมาถึง เฟดจะตัดสินใจอย่างระมัดระวังว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่ หรือจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ขณะที่รอข้อมูลเศรษฐกิจต่อไป
“ลาการ์ด” ลั่น ECB จำเป็นต้องตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปเพื่อฉุดเงินเฟ้อสู่เป้าหมาย
นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวในการประชุมแจ็กสัน โฮลเมื่อวันศุกร์ว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงต่อไปตราบเท่าที่จำเป็น เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมาย
“ในยุคแห่งความไม่แน่นอนนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ธนาคารกลางต่าง ๆ จะต้องสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจ และรับประกันเสถียรภาพของราคา ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ECB จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เข้มงวดเพียงพอตราบเท่าที่จำเป็น เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับคืนสู่เป้าหมายระยะกลางของเราที่ระดับ 2%” นางลาการ์ดกล่าว
การแสดงความเห็นของนางลาการ์ดเป็นไปในทิศทางเดียวกันนายพาวเวลซึ่งยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อฉุดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของธนาคารกลาง แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงก็ตาม
ส่วนในการประชุม ECB ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรรมการ ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 9 ติดต่อกัน
แบงก์ชาติอังกฤษส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยระดับสูงต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นายเบน บรอดเบนท์ รองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวว่า BoE จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงมาก
“แรงกดดันด้านเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการนำเข้าสินค้าประเภทต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ BoE จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง คำถามสำคัญที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายต้องตอบก็คือ ต้นทุนการนำเข้าจะปรับตัวลงอย่างรวดเร็วจนทำให้เราสามารถปรับนโยบายการเงินหรือไม่ สำหรับผมแล้ว คำตอบคือผมไม่คิดว่าต้นทุนการนำเข้าจะลดลงอย่างรวดเร็ว และการคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเพื่อสกัดเงินเฟ้อจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก”
“BoE ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันยาวนานถึง 14 ครั้งจนปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกเกือบ 16 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 6.8% จากระดับสูงสุดที่ 11.1% แต่เรามองว่าตัวเลขดังกล่าวยังอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ BoE ที่ระดับ 2% กว่า 3 เท่า” นายบรอดเบนท์กล่าวในการประชุมแจ็กสัน โฮลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
BOJ สวนกระแส ส่งสัญญาณผ่อนคลายการเงินต่อไป เหตุเงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้า
นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในการประชุมแจ็กสัน โฮลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า เงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงขยายตัวช้ากว่าเป้าหมายของ BOJ และนี่จึงเป็นเหตุผลที่คณะกรรมการ BOJ ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป
“เรามองว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของ BOJ ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป”
“ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหาร ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมิ.ย.ที่มีการขยายตัว 3.3% และเราคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานจะชะลอตัวลงต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้น เราคาดว่าอุปสงค์ภายใประเทศยังคงอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่ง” นายอุเอดะกล่าว โดยนายอุเอดะไม่ได้แสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในการประชุมครั้งนี้
ทั้งนี้ การประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล หรือ “The Jackson Hole Economic Symposium” เป็นหนึ่งในการประชุมที่มีประวัติอันยาวนานที่สุดในโลก โดยเฟดสาขาแคนซัสซิตีเป็นแม่งานจัดการประชุมดังกล่าวในทุก ๆ ปีนับตั้งแต่ปี 2521 โดยการประชุมจะมุ่งอภิปรายในประเด็นเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และผู้ที่ได้เข้าร่วมประชุมจะประกอบไปด้วยผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีคลัง รวมทั้งบรรดานักวิชาการ และนักลงทุนชั้นนำในตลาดการเงินทั่วโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 66)
Tags: BoE, BOJ, ECB, คริสติน ลาการ์ด, คาซูโอะ อุเอดะ, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางอังกฤษ, สหรัฐ, อัตราดอกเบี้ย, เงินเฟ้อ, เจอโรม พาวเวล, เบน บรอดเบนท์, เฟด