แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุนคาดว่า บมจ.วีจีไอ (VGI) จะผนึกพันธมิตรยักษ์ใหญ่เข้าร่วมลงทุนทำเข้าร่วมลงทุนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) หลังจากระดมทุนก้อนใหญ่กว่า 1.32 หมื่นล้านบาท ผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ 4 กองทุนทั้งไทยและต่างประเทศ คาดว่า VGI จะส่งบริษัทลูกเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรยื่นคำขอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนก.ย.นี้
VGI แจ้งวัตถุประสงค์ของการใช้เงินจากการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ใช้พัฒนาและสนับสนุนเงินลงทุนหมุนเวียนของ Virtual Bank ซึ่งจะทำการลงทุนโดยบริษัทฯ หรือผ่านบริษัทย่อย โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบเพิ่มทุนหรือเงินให้กู้ยืม จำนวนไม่เกิน 7,500 ล้านบาท ใช้ภายใน 12 เดือน
2.ใช้เพื่อสนับสนุนการเติบโตในธุรกิจเดิมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อันได้แก่ ธุรกิจสื่อโฆษณาและความบันเทิง (Media and Entertainment) ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) ธุรกิจการจัดจำหน่าย (Distribution) และการพัฒนาปรับปรุงระบบความบันเทิง(Entertainment) ในรถไฟฟ้าและสถานที่ต่าง ๆ จำนวนเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ใช้ภายใน 12 เดือน และ 3.ใช้เพื่อสนับสนุนเงินลงทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ และบริษัทย่อย
ทั้งนี้ VGI ถือหุ้น 90% ใน บริษัท บางกอก สมาร์การ์ด ซิสแทม จำกัด ที่ทำธุรกิจให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) หรือที่รู้จักชื่อ Rabbit Card และ บริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด (VGI ถือ 90%) ถือหุ้นใหญ่ 77% ในบริษัท แรบบิท แคช จำกัด ที่ทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อราย่อยเพื่อประกอบอาชีพ
นอกจากนี้ VGI เป็นบริษัทไม่มีหนี้เงินกู้กับสถาบันการเงิน มีแต่ลูกหนี้ ยิ่งทำให้ VGI น่าลงทุน
แหล่งข่าว กล่าวว่า 4 กองทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน VGI ไม่สนใจซื้อหุ้น บมจ.ร็อคเทค โกลบอล (ROCTEC) และ บมจ.แรบบิท โฮลดิ้งส์ (RABBIT) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ในฐานะบริษัทแม่ของ VGI รวมทั้ง ROCTEC และ RABBIT ต้องเข้ามารับซื้อ ROCTEC และ RABBIT ไว้เอง
“หลักๆเป็นเรื่อง VGI ที่จะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมมือทำ Virtual Bank เพราะ VGI มีคุณสมบัติครบที่จะไปยื่น Virtual Bank แต่กองทุนที่เข้ามาซื้อ VGI เป็นของใคร ยังไม่รู้ “แหล่งข่าว กล่าว
Virtual Bank ดำเนินงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลและออนไลน์ทั้งหมด โดยไม่มีสาขาที่ตั้งแบบธนาคารดั้งเดิม(Physical) โดยลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เช่น ฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน ชำระบิล และอื่นๆ ผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของ Virtual Bank ซึ่งจากแผนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า Virtual Bank เข้ามาจะช่วยเจาะลูกค้ารายย่อยในส่วนที่ธนาคารเข้าไม่ถึง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่มาให้บริการทางการเงิน และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม ต้นทุนการเงินที่ต่ำลงกว่าธนาคารดั้งเดิม (Physical) จะส่งผ่านไปยังลูกค้า
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การที่ VGI จะเข้าร่วมลงทุนใน Virtual Bank จะจับมือกับกลุ่มพันธมิตรขนาดใหญ่ เนื่องจากมีประสบการณ์ในด้านการเงินและบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) ผ่าน Rabbit Card และ Rabbit Cash รวมถึงความสามารถในผสมผสานความสามารถทางด้านการเงิน ข้อมูล และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี โดยยังอยู่ในระหว่างการเจรจาสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งคาดว่า VGI จะเป็นผู้ร่วมถือหุ้นไม่เกิน 25% และเนื่องจากพันธมิตรที่อยู่ระหว่างการเจรจาในการร่วมกันขอใบอนุญาตฯนี้ ล้วนมีศักยภาพสูงในการลงทุน บริษัทฯ จึงเห็นว่าการที่มีเงินเพิ่มทุนเข้ามาเตรียมพร้อมไว้ ถือเป็นคุณสมบัติข้อสำคัญ และเป็นโอกาสในการเพิ่มความเชื่อมั่นที่พันธมิตรมีต่อบริษัทฯ ในการร่วมโครงการกันครั้งนี้ด้วย
สำหรับกลุ่มใหญ่ที่เปิดตัวว่าสนใจยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank มี 3 กลุ่ม
1. กลุ่มพันธมิตร KTB-ADVANC-OR-GULF
2. กลุ่มพันธมิตร SCB-Kakao Bank มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ Virtual Bank ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้
3. กลุ่ม CP นำโดย Ascend Group โดยจะมีการลงทุนร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศที่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 67)