เกาหลีใต้ เล็งสร้างหุ้นส่วนศก.กับไทย หวังเพิ่มมูลค่า-ลดอุปสรรคการค้า ดันใช้ไทยตั้งฐานผลิตรถ EV

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายอัน ด็อก-อึน รัฐมนตรีการค้า กระทรวงการค้า พลังงาน และอุตสาหกรรม สาธารณรัฐเกาหลี ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีว่า เกาหลีใต้แสดงความสนใจอย่างมุ่งมั่นที่จะเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ไทย – เกาหลีใต้ ให้สำเร็จ เพราะทั้งสองประเทศยังไม่มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน มีเพียงการจัดทำความตกลงการค้าในระดับภูมิภาค ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลง RCEP ซึ่งเป็นภาพกว้างเท่านั้น

โดยล่าสุดรัฐมนตรีการค้าของเกาหลีใต้ได้พบหารือกับรมช.พาณิชย์ของไทย ระหว่างการประชุมเอเปกที่สหรัฐอเมริกา และเดินทางกลับมายังเกาหลีใต้เพื่อพูดคุยกับตนต่อ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจเป็นอย่างมาก ซึ่งหากการจัดทำ EPA สำเร็จ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดภาษีการนำเข้าส่งออกสินค้า ลดอุปสรรคการค้า ส่งเสริมซัพพลายเชนและการเคลื่อนย้ายสินค้าให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยและเกาหลีใต้มีศักยภาพ เช่น ขณะนี้บริษัท Hyundai และ Kia กำลังอยู่ระหว่างการขยายธุรกิจและตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เกาหลีใต้ยังได้เสนอให้ใช้ประโยชน์จากการเจรจาจัดทำ EPA เพื่อหารือและเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งตนในฐานะผู้แทนการค้าไทยได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมกับเกาหลีใต้ยกร่างขอบเขตการเจรจา (TOR) เพื่อพัฒนาไปสู่การจัดทำ EPA โดยเร็วต่อไป

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า เราได้เสนอให้มีการรื้อฟื้นกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ JTC ไทย – เกาหลีใต้ ซึ่งห่างหายไปกว่า 20 ปี โดยล่าสุดได้ประชุมกันครั้งสุดท้าย หรือครั้งที่ 12 เมื่อปี 2545 ซึ่งกลไกนี้จะเป็นกลไกเฉพาะด้านการค้าการลงทุนที่จะช่วยขยายมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทยและเกาหลีใต้ เป็นเวทีแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน โดยหัวหน้าคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายเป็นระดับรัฐมนตรี ฝ่ายไทยคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนฝ่ายเกาหลีใต้คือ รัฐมนตรีการค้า ทั้งนี้ ไทยแสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งจะเป็นโอกาสปูทางไปสู่การเปิดเจรจา EPA ระหว่างกันต่อไปด้วย

“ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้เข้าไปลงทุนในอาเซียน แต่พบกับปัญหาอุปสรรคในบางประเทศ เช่น ความไม่พร้อมของระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน แม้จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจำนวนมากก็ตาม เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้จำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อการผลิตมาก โดยเกาหลีใต้เล็งเห็นศักยภาพของไทยที่มีความพร้อมมากกว่า และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากระจายการลงทุนเพื่อลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงแห่งเดียว โดยตนได้เชิญชวนให้เกาหลีใต้เข้ามาลงทุน เนื่องจากไทยมีศักยภาพในทุกด้าน และยังมีสิทธิประโยชน์ทั้งภายใต้ BOI, EEC และโครงการอื่น ๆ รวมทั้งยังสามารถเป็นประตูการค้าไปสู่ตลาดอื่นทั้งเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป นอกจากนี้ ไทยยังมีแรงงานที่มีศักยภาพ มีนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเรียนภาษาเกาหลีมากถึง 40,000 คนต่อปี ถือเป็นอันดับ 1 ของประเทศนอกเกาหลี ที่มีผู้สนใจศึกษาภาษาเกาหลี ซึ่งตนเชื่อว่าการหารือครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างความร่วมมือกัน และสอดคล้องกับช่วงเวลาของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย – เกาหลีใต้ ครบรอบ 65 ปี ในปีนี้อีกด้วย” นางนลินี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ย. 66)

Tags: , , ,