เกาหลีใต้ออกมาตรการกระตุ้นตลาดหุ้น แก้ปัญหา “ส่วนลดเกาหลี”

คณะกรรมการด้านบริการการเงินของเกาหลีใต้ (FSC) ออกมาตรการเพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการในวันนี้ (26 ก.พ.) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากกลยุทธ์ของญี่ปุ่น เพื่อมุ่งเพิ่มมูลค่าบริษัทจดทะเบียนท้องถิ่นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และจัดการกับ “ส่วนลดของเกาหลี” (Korea Discount)

FSC ได้เปิดเผยรายละเอียดของโครงการเพิ่มมูลค่าองค์กร หรือ Corporate Value-up Program ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นผ่านสิ่งจูงใจต่างๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำและเปิดเผยแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัทโดยสมัครใจ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า มาตรการของ FSC เน้นย้ำถึงขั้นตอนที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มมูลค่าตลาดหุ้นในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของเอเชีย โดยบรรดานักวิเคราะห์มักมองว่า หุ้นเกาหลีใต้มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งทำให้บางครั้งถูกระบุว่าเป็น “ส่วนลดของเกาหลี”

แถลงการณ์ของ FSC ระบุว่า จะเปิดตัวดัชนี Korea Value-up Index สำหรับนักลงทุนสถาบัน รวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญ อีกทั้งจะแสดงรายการกองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) ที่ติดตามดัชนีดังกล่าว เพื่อทำให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงบริษัทเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวมีความคล้ายกับดัชนี Prime 150 ของญี่ปุ่น ซึ่งที่ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) ที่ได้รับการคัดสรรเป็นอย่างดีจำนวน 150 แห่งซึ่งประกอบด้วย บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างโซนี่ กรุ๊ป, ฮิตาชิ, นินเทนโด และบริษัทการค้าที่ได้รับการสนับสนุนจากนายวอร์เรน บัฟเฟตต์อย่าง มารูเบนิ, อีโตชู และมิตซุย แอนด์ โค แต่ดัชนีข้างต้นไม่นับรวมบริษัทรถยนต์ เช่น โตโยต้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.พ. 67)

Tags: ,