สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคารกลางฮ่องกงได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อปกป้องค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงในวันนี้ หลังจากนักลงทุนกระหน่ำขายดอลลาร์ฮ่องกงออกมาอย่างหนัก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของธนาคารกลางฮ่องกงส่งผลให้งบดุลของธนาคารกลางลดฮวบลง
ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐและฮ่องกงที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากนั้น ได้บีบให้ธนาคารกลางฮ่องกงต้องเข้าแทรกแซงตลาดหลายครั้งเพื่อปกป้องสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงไม่ให้ร่วงหลุดจากกรอบ 7.75-7.85 ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแม้ว่าในระยะสั้นนั้นปัญหาดังกล่าวจะสามารถจัดการได้ แต่การที่ดอลลาร์ฮ่องกงถูกเทขายออกมาอย่างหนักได้สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมีความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตทางเศรษฐกิจของฮ่องกง
ในการปกป้องค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงที่ผูกติดอยู่กับดอลลาร์สหรัฐนั้น ส่งผลให้เงินทุนทั้งหมดของธนาคารกลางฮ่องกงซึ่งเป็นมาตรวัดสภาพคล่องของตลาดอินเตอร์แบงก์นั้น ทรุดตัวลงจากระดับ 4.58 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง (5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) สู่ระดับต่ำกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551
ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางฮ่องกงได้ทุ่มซื้อสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงจากตลาดจำนวนราว 40 ครั้ง
นักลงทุนด้านการเงินบางราย ซึ่งรวมถึงนายบิล แอคแมน ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์เพอร์ชิง สแควร์ (Pershing Square) แสดงความเห็นว่า ระบบการเงินของฮ่องกงไม่แข็งแกร่งพอที่จะรักษาผูกติดค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงไว้กับดอลลาร์สหรัฐได้ พร้อมกับตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการดำเนินการของธนาคารกลาง โดยระบบการผูกติดค่าเงินทั้งสองสกุลได้จัดตั้งขึ้นนับตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งจะทำให้ฮ่องกงถูกบีบให้ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐ แม้ว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงหดตัวลงติดต่อกัน 4 ไตรมาสในปี 2565 ก็ตาม
สำหรับแนวโน้มในระยะยาวนั้น ความต้องการดอลลาร์ฮ่องกงจะขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อกลยุทธ์ในการบริหารเศรษฐกิจของฮ่องกงมากเพียงใด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ภาพลักษณ์ในฐานะศูนย์กลางด้านการเงินของฮ่องกงถดถอยลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากการที่พลเมืองย้ายถิ่นฐานไปยังต่างประเทศ และขณะนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าฮ่องกงจะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อชดเชยการไหลออกของประชากรได้มากเพียงใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 66)