การที่จีนประกาศลดภาษีการซื้อขายขายหุ้นกำลังเพิ่มแรงกดดันให้ฮ่องกงต้องปฏิบัติตาม ซึ่งส่งผลให้หัวหน้าฝ่ายการเงินของฮ่องกงเผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากต้องคำนึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อรายได้ของรัฐบาล
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ที่ผ่านมานั้น บรรดานายธนาคารและเทรดเดอร์ต่างก็ต้องการให้ฮ่องกงปรับลดภาษีการซื้อขายหุ้น ขณะที่พรรคพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อความก้าวหน้าแห่งฮ่องกง (DAB) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกง ได้แสดงความกังวลเนื่องจากการปรับลดภาษีการซื้อขายหุ้นอาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เนื่องจากรัฐบาลต้องพึ่งพารายได้จากการซื้อขายหุ้นประมาณ 9% ของงบประมาณ
การดำเนินการเชิงรุกของจีนเพื่อสนับสนุนการซื้อขายในตลาดหุ้นนั้น กำลังกดดันให้ฮ่องกงต้องเร่งพัฒนามาตรการของตนเองเพื่อกระตุ้นการซื้อขายและการเสนอขายหุ้นแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO)
เมื่อไม่นานมานี้ ฮ่องกงได้เปิดตัวคณะทำงานชุดเฉพาะกิจที่นำโดยนายคาร์ลสัน ตง อดีตผู้กำกับดูแลและประธานบริษัทเคพีเอ็มจี ไชน่า และบรรดาผู้บริหารจากมอร์แกน สแตนลีย์, ซิตี้กรุ๊ป และซีเอสโอพี แอสเซท แมเนจเม้นท์ และอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะประชุมกันสัปดาห์ละครั้งหรือมากกว่านั้นเพื่อร่างแผนปฏิบัติการเบื้องต้นภายในเดือนนี้ ก่อนการแถลงนโยบายประจำปีของนายจอห์น ลี ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ในเดือนต.ค.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศลดภาษีอากรสแตมป์ (stamp duty) สำหรับการซื้อขายหุ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551 แต่ประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นข้อถกเถียงกันในอย่างหนักในฮ่องกง ขณะที่การตัดสินใจดังกล่าวของจีนได้รับการขานรับโดยกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการให้ปรับลดภาษีการซื้อขายหุ้น
รายงานระบุว่า ในปี 2564 ฮ่องกงเคยปรับขึ้นภาษีอาการแสตมป์สำหรับการซื้อขายหุ้น และนำไปสู่การวิจัยที่นำโดยสภาพัฒนาบริการด้านการเงินของฮ่องกง (FSDC) ซึ่งพบว่า ฮ่องกงกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินที่มีต้นทุนแพงที่สุดสำหรับการซื้อขายหุ้น โดยเป็นรองแค่อังกฤษเท่านั้น ขณะที่ตลาดหุ้นที่สำคัญในประเทศอื่น เช่น สหรัฐ และญี่ปุ่น ไม่มีการเรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ย. 66)
Tags: จีน, ซื้อขายหุ้น, รายได้รัฐ, ลดภาษี, ฮ่องกง