สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายใต้การสนับสนุนของสมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย เผยงานวิจัยล่าสุดคาดว่า การให้บริการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการท้องถิ่นในประเทศไทยในปี 2563 สามารถสร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 45,106 อัตรา โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.67 หมื่นล้านบาท) ในระบบเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 0.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) บ่งชี้ว่าเงินทุกบาทที่ลงทุนไปในอุตสาหกรรมบริการ OTT ให้ผลตอบแทนเป็นกำไร 2.67 บาทใน GDP ประจำปี 2563 ของไทย
ผลงานวิจัยดังกล่าวจัดทำขึ้นในหัวข้อ “แนวทางนโยบายเชิงนวัตกรรมต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย” (Innovative Policy Approaches to Thailand’s Digital Economy) ผ่านการสำรวจผลกระทบของแพลตฟอร์มวิดีโอซึ่งจัดเป็นบริการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (Over-the-Top – OTT) ต่อระบบเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ วิกฤตโควิด-19 มีส่วนในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมบริการ OTT ในไทย รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาทางบริการ OTT เนื่องจากคนอยู่บ้านเป็นจำนวนมากขึ้นและต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตและวิดีโอออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2563 ตลาดการโฆษณาทางบริการเผยแพร่วิดีโอออนไลน์มีมูลค่า 547 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่า จะเติบโตขึ้นอีก 14% ในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,031 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบการใช้จ่ายด้านโฆษณายังพบว่า การใช้จ่ายด้านการโฆษณาทางโทรทัศน์ลดลง 10% ในปี 2563 ขณะที่การใช้จ่ายด้านการโฆษณาทางบริการ OTTเพิ่มขึ้น 7%
ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว หัวหน้าโครงการ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในผู้นิพนธ์งานวิจัยชิ้นนี้ เผยว่า นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในเชิงบวก การเติบโตของอุตสาหกรรมบริการ OTT ของประเทศไทยจะสร้างมูลค่ามากมายให้กับผู้บริโภค ธุรกิจ ตลอดจนแพลตฟอร์มวิดีโอแบบดั้งเดิม ซึ่งจากการวิจัยของเรา ประกอบกับการสนทนากับผู้เล่นในอุตสาหกรรมบริการ OTT คาดว่า อุตสาหกรรมนี้จะกระตุ้นตลาดการจ้างงานในประเทศไทย เนื่องจากมีความต้องการผู้ผลิตคนเทนต์และพนักงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดรับกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของคอนเทนต์วิดีโอ
“นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงตัวเลือกการโฆษณาที่มุ่งเป้าจำเพาะเจาะจงและประหยัดงบประมาณมากขึ้นได้อย่างง่ายดายสำหรับทั้งสองแพลตฟอร์ม ส่วนผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการมีตัวเลือกที่มากขึ้นสำหรับคอนเทนต์ที่สามารถเข้าดูได้ง่ายและมีอัตราค่าบริการที่เข้าถึงได้ ขณะที่แพลตฟอร์มแบบดั้งเดิมอย่างสถานีโทรทัศน์เอง ก็จะมีโอกาสการเพิ่มรายได้ด้วยการดำเนินการควบคู่ไปกับแพลตฟอร์มบริการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรม OTT ในประเทศไทยต้องได้รับการสนับสนุนด้วยกรอบการกำกับดูแลที่สมเหตุสมผลและมุ่งเน้นความก้าวหน้า เพื่อให้มีการบรรลุศักยภาพและมูลค่าสูงสุดของอุตสาหกรรมนี้”
ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว กล่าว
งานวิจัยดังกล่าว นอกจากจะเผยผลศึกษาด้านเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมบริการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ( OTT) ในประเทศไทยแล้ว ยังได้นำเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายเชิงนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย โดยทีมวิจัยได้สำรวจแนวปฏิบัติที่ดีและได้เสนอแนะแนวทางการกำกับดูแลตนเองในอุตสาหกรรมเพื่อทำให้นโยบายของรัฐบาลสอดคล้องกับวิวัฒนาการที่รวดเร็วของธุรกิจ OTT ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตและเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรมของอุตสาหกรรมนี้
นอกจากนั้น การเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการกำกับดูแลตนเองสามารถทำได้โดยจัดทำให้แนวปฏิบัติในการกำกับดูแลตนเองนี้เปิดเผยและเข้าถึงได้โดยสาธารณะ และสร้างกระบวนการให้ผู้ให้บริการ OTT เพื่อให้สามารถรับมือกับคำร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ แนวทางเช่นนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ให้บริการได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติและรับมือกับคำร้องเรียนโดยสอดคล้องกับแนวปฏิบัตินั้นอย่างเหมาะสม
สำหรับคณะกรรมาธิการการกำกับดูแลตนเองของอุตสาหกรรมควรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังได้แนะนำให้มีการให้แรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรม อย่างเช่นแรงจูงใจทางภาษีและการรับรู้โดยสาธารณะสำหรับบริษัทที่มีการกำกับดูแลตนเองด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 65)
Tags: OTT, สุทธิกร กิ่งแก้ว, เศรษฐกิจดิจิทัล, เศรษฐกิจไทย