อึ้ง!! สุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท พบสารพิษตกค้างเพียบกว่า 50 ชนิด

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท มีขายอยู่ทั่วไปในกรุงเทพและปริมณฑล ทั้งในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ รถเร่ แผงข้างทางและร้านค้าออนไลน์ พบ 24 ตัวอย่าง ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล มีสารเคมีเกษตรตกค้าง 50 ชนิด และพบตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากถึง 95.8%

น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทครั้งนี้ จำนวน 24 ตัวอย่าง จาก 15 สถานที่จำหน่ายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยเก็บตัวอย่างในวันที่ 2 และ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา อาสาสมัครเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทจากสถานที่จำหน่ายตามแผนการเก็บตัวอย่าง โดยเลือกซื้อทั้งแบบแพกเกจที่มีการระบุยี่ห้อ (ฉลากระบุผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย) และแบบวางขายในชั้นวางของแหล่งจำหน่ายโดยไม่ได้ระบุยี่ห้อ ซึ่งมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 ถึง 699 บาท ดังนั้น บางตัวอย่างอาจพบว่า เป็นยี่ห้อที่ซ้ำกัน แต่ก็มาจากแหล่งจำหน่ายต่างสถานที่กัน

สำหรับข้อค้นพบสำคัญของการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท ได้แก่

1. ประเทศผู้ผลิตองุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่าง ที่สุ่มซื้อมาจากการสั่งออนไลน์ 2 ตัวอย่าง มาจากร้านค้าและตลาด 7 ตัวอย่าง และจากโมเดิร์นเทรด 15 ตัวอย่าง สามารถระบุได้เพียง 9 ตัวอย่างว่ามาจากประเทศจีน อีก 15 ตัวอย่างไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้

2. 95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทหรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด แบ่งเป็น 2 กรณี 1) องุ่น 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบเนื่องจากยกเลิกค่า MRL แล้ว 2) องุ่นอีก 22 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 14 ชนิด เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต (สารพิษตกค้างที่ไม่มีค่า MRL ตามกฎหมายกำหนดให้พบได้ไม่เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต 0.01 mg/kg) ซึ่งสารเหล่านี้อาจยังไม่มีการประเมินความปลอดภัย

3. พบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด พบว่า เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos และ Endrin aldehyde และเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการประเมินใด ๆ ภายใต้กฎหมายไทย

4. จากสารพิษตกค้าง 50 ชนิด มีสารประเภทดูดซึม (Systemic pesticide) 37 ชนิด หรือคิดเป็น 74% ของสารพิษตกค้าง โดยสารกลุ่มนี้มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น ซึ่งการล้างสารกลุ่มนี้ออกจากเนื้อเยื่อพืชคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย

5. องุ่นไชน์มัสแคทแต่ละตัวอย่างพบสารพิษตกค้างระหว่าง 7-18 ชนิด โดยจำนวน 23 จาก 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด 1-6 ชนิด

อย. ยกระดับเฝ้าระวังความปลอดภัยผักผลไม้

เภสัชกรหญิงสุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการกองอาหาร อย. กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลที่มีองุ่นนำเข้ามาขายในประเทศ อย. และ Thai- PAN ได้ประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังผัก ผลไม้ มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังผักผลไม้ร่วมกัน

โดยจากผลการตรวจวิเคราะห์องุ่นในครั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าสารตกค้างที่พบส่วนใหญ่เป็นสารที่ไม่มีกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข หรือ CODEX โดยที่สารเหล่านี้ไม่มีข้อมูลการประเมินความปลอดภัยของปริมาณสารตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ อย. ต้องนำมาใช้วิเคราะห์หามาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้ผู้บริโภคต่อไป ซึ่ง Thai-PAN ได้ส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้อย. แล้ว

ทั้งนี้ อย. ได้ยกระดับการเฝ้าระวังผักผลไม้ นอกจากการดำเนินการที่ด่านอาหารและยาแล้ว กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิด นอกจากดำเนินคดี และไม่สามารถนำเข้าผัก ผลไม้ที่ตรวจพบสารตกค้างเกินมาตรฐานแล้ว ถ้าตรวจพบสารตกค้างผิดมาตรฐาน 3 ครั้งใน 1 ปี โดยเป็นหรืออาหารชนิดเดียวกันจากผู้นำเข้าเดียวกัน หรือตรวจพบวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เช่น chlorpyrifos 2 ครั้งใน 1 ปี โดยเป็นอาหารชนิดเดียวกันผู้นำเข้าเดียวกัน ผู้นำเข้าจะถูกพักใช้ใบอนุญาตนำเข้าไม่เกิน 120 วัน

โดยในปีงบประมาณ 2568 นี้ อย. ยังมีแผนร่วมกับ Thai-PAN เก็บตัวอย่างผักและผลไม้ 19 ชนิด จำนวน 300 ตัวอย่าง จากสถานที่จำหน่ายส่งตรวจวิเคราะห์ ในพื้นที่ 12 จังหวัด ที่เป็นตัวแทน 4 ภาค และนำข้อมูลผลวิเคราะห์ไปใช้ในการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ นอกจากนี้ อย. ยังมีแผนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการตรวจโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ทั่วประเทศ และเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง จำนวน 1,530 ตัวอย่าง เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

นายวัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผู้อำนวยการกองด่านอาหารและยา อย. กล่าวว่า อย. ได้ตรวจสอบการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทในปี 67 พบว่ามีการนำเข้า 264 ตัน มูลค่า 72 ล้านบาท และตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ไม่ผ่านมาตรฐาน 4 ตัวอย่าง ซึ่ง อย. ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว และยังตรวจสอบองุ่นนำเข้าทางรถไฟจากจีนพบว่าผ่านมาตรฐาน

สำหรับในปี 68 อย. ได้พัฒนามาตรการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพผักผลไม้นำเข้าเชิงรุก ตามมาตรการ Hold, Test and Release และ 1daan/1lab/1day โดยเมื่อมีการนำเข้าผักและผลไม้จะเก็บตัวอย่างผักผลไม้กลุ่มเสี่ยงสูงกว่า 2,200 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง และไม่อนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในท้องตลาดจนกว่าจะพบว่าผลการทดสอบผ่านมาตรฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเฝ้าระวังและกำกับดูแลการนำเข้าผักและผลไม้ และยังมีการทำ MOU ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เพื่อพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ ณ ด่านอาหารและยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 67)

Tags: , , , , , , ,