อีลอน มัสก์ ผู้เป็นเจ้าของบริษัท นิวรัลลิงก์ คอร์ป (Neuralink Corp) บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีประสาท ประกาศเมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า ผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการปลูกถ่ายชิปของนิวรัลลิงก์ลงในสมอง สามารถใช้ความคิดบังคับเมาส์คอมพิวเตอร์ได้แล้ว
“ความคืบหน้าเป็นไปด้วยดี และผู้ป่วยดูเหมือนจะฟื้นตัวเต็มที่แล้วโดยไม่มีผลกระทบด้านระบบประสาทตามที่เราทราบ ผู้ป่วยสามารถขยับเมาส์ไปรอบ ๆ หน้าจอได้เพียงแค่คิด” นายมัสก์กล่าวในงานอีเวนต์สเปซเซส (Spaces) บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์)
นายมัสก์กล่าวว่า ขณะนี้นิวรัลลิงก์พยายามให้ผู้ป่วยใช้ความคิดคลิกปุ่มเมาส์ให้ได้มากที่สุด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เป้าหมายใหญ่ของนิวรัลลิงก์ที่นายมัสก์ตั้งไว้คือ การผ่าตัดฝังชิปลงในสมองอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยรักษาโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน, ออทิสติก, ภาวะซึมเศร้า หรือแม้แต่โรคจิตเภท
เมื่อเดือนที่แล้ว นิวรัลลิงก์ประสบความสำเร็จในการฝังชิปให้กับผู้ป่วยรายแรก หลังจากได้รับอนุมัติให้เปิดรับอาสาสมัครการทดลองในมนุษย์เมื่อเดือนก.ย. 2566
นิวรัลลิงก์กล่าวว่า การทดลองนี้ใช้หุ่นยนต์ในการฝังอุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ โดยการผ่าตัดในสมองส่วนที่ควบคุมความตั้งใจที่จะเคลื่อนไหว พร้อมเสริมว่าเป้าหมายในช่วงแรกคือเพื่อให้คนสามารถควบคุมเคอร์เซอร์คอมพิวเตอร์หรือคีย์บอร์ดได้โดยใช้ความคิด
ทั้งนี้ นิวรัลลิงก์ ซึ่งมีมูลค่าบริษัทประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เผชิญกระแสเรียกร้องให้ถูกตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยอยู่หลายครั้ง โดยทางรอยเตอร์รายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า นิวรัลลิงก์ถูกปรับเนื่องจากละเมิดกฎของกระทรวงคมนาคมสหรัฐ ว่าด้วยการขนย้ายวัตถุอันตราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 67)
Tags: นิวรัลลิงก์, ปลูกถ่ายชิป, อีลอน มัสก์, เทคโนโลยีประสาท