นายอีลอน มัสก์ ประกาศผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ทวิตเตอร์ได้ทำการจำกัดจำนวนข้อความบนหน้าฟีดทวิตเตอร์ที่ผู้ใช้งานสามารถอ่านได้ในแต่ละวันเป็นการชั่วคราว โดยสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ปัจจุบันบัญชีผู้ใช้งานที่ไม่มีการยืนยันตัวตนรายเดิมนั้นสามารถอ่านข้อความได้สูงสุดวันละ 1,000 ข้อความ ส่วนผู้ใช้งานที่ไม่มีการยืนยันตัวตนรายใหม่สามารถอ่านได้สูงสุดวันละ 500 ข้อความ
ขณะที่ ผู้ใช้งานที่มีการยืนยันตัวตน (Verified) ปัจจุบันสามารถอ่านข้อความได้สูงสุดวันละ 10,000 ข้อความต่อวัน
ในเวลาต่อมา นายมัสก์ประกาศผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ทวิตเตอร์จะเพิ่มการจำกัดจำนวนข้อความบนหน้าฟีดที่ผู้ใช้งานสามารถอ่านได้อีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้ โดยจะจำกัดให้ผู้ใช้งานที่มีการยืนยันตัวตนสามารถอ่านข้อความได้สูงสุดวันละ 8,000 ข้อความ ส่วนผู้ใช้งานที่ไม่มีการยืนยันตัวตนรายเดิมจะอ่านข้อความได้วันละ 800 ข้อความและผู้ใช้งานที่ไม่มีการยืนยันตัวตนรายใหม่จะอ่านข้อความได้วันละ 400 ข้อความ
ในไทย ผู้ใช้งานเริ่มถูกจำกัดจำนวนการอ่านข้อความบนหน้าฟีดไปตั้งแต่วันเสาร์ที่ 1 ก.ค. โดยเบื้องต้นกลุ่มผู้ใช้งานเข้าใจว่าทวิตเตอร์เกิดข้อบกพร่องทางเทคนิค ทำให้ #ทวิตเตอร์ล่ม ติดเทรนด์
นายมัสก์ระบุว่า การจำกัดจำนวนการอ่านข้อความรายวันครั้งนี้เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาเรื่อง “การดึงข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และใช้ต่อยอดทางธุรกิจและการจัดการระบบในระดับสุดขั้ว” แต่นายมัสก์ไม่ได้อธิบายความหมายของคำว่าการจัดการระบบในบริบทนี้
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกบรรยายว่าเป็น “มาตรการฉุกเฉินชั่วคราว” แม้ไม่ชัดเจนว่าการดึงข้อมูลที่นายมัสก์เอ่ยถึงในบริบทนี้คืออะไร แต่สำนักข่าวบีบีซีคาดการณ์ว่า นายมัสก์หมายถึงการดึงข้อมูลของบริษัท AI เพื่อนำไปฝึกฝนโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ซึ่งใช้ขับเคลื่อนแชตบอต เช่น แชตจีพีที (ChatGPT) ของโอเพนเอไอ (OpenAI) และบาร์ด (Bard) ของกูเกิล
บริษัท AI จำเป็นต้องเรียนรู้บทสนทนาที่แท้จริงของมนุษย์ผ่านข้อความบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เรดดิท (Reddit) และทวิตเตอร์ แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องการให้บริษัท AI จ่ายเงินเพื่อซื้อข้อมูลเหล่านี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 66)
Tags: ทวิตเตอร์, อีลอน มัสก์