สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลการศึกษาข้างต้นร่วมจัดทำโดยโรงพยาบาลเบลินสัน และคลาลิต (Clalit) องค์กรด้านการดูแลสุขภาพรายใหญ่ที่สุดของอิสราเอล และเผยแพร่ผ่านวารสารนิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน (New England Journal of Medicine) โดยอ้างอิงการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว 94%
การศึกษาพบผู้มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 54 ราย โดยเป็นผู้ชาย 51 ราย และพบหลังฉีดวัคซีนแล้ว 42 วัน ทำให้อัตราการอุบัติของภาวะดังกล่าวอยู่ที่ 2.13 รายต่อผู้ฉีดวัคซีน 100,000 คน โดยอัตราดังกล่าวของผู้ชายอยู่ที่ 4.12 ราย ส่วนของผู้หญิงอยู่ที่ 0.23 ราย
ผลข้างเคียงนี้มักเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเกิดในกลุ่มคนอายุ 16-29 ปี มากกว่าผู้มีอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทั้ง 54 รายข้างต้น แบ่งตามระดับอาการออกเป็นอาการเล็กน้อย 41 ราย (76%) อาการปานกลาง 12 ราย และอาการหนัก 1 ราย
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยกล่าวว่า “การค้นพบนี้เผยว่าผู้ป่วยส่วนมากมีอาการป่วยเล็กน้อย ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจในระยะสั้นมากนัก และเราคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาว”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ต.ค. 64)
Tags: Pfizer, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, ฉีดวัคซีน, ผลข้างเคียง, วัคซีนต้านโควิด-19, อิสราเอล, ไฟเซอร์