อินเดียสร้างความสำเร็จครั้งใหม่ในการเชื่อมต่อยานอวกาศในวันนี้ (16 ม.ค.) ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่ทำได้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นความทะเยอทะยานในการขยายส่วนแบ่งตลาดอวกาศโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านดอลลาร์และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
โฆษกองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) เปิดเผยว่า การทดลองเชื่อมต่อยานอวกาศ หรือ SpaDeX สำเร็จลุล่วงเมื่อเวลาราว 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (10.30 น. ตามเวลาไทย)
ดาวเทียมคู่แฝดของ ISRO ที่มีชื่อว่า “Target” และ “Chaser” ขนาดเท่าตู้เย็นตู้ใหญ่ สามารถเชื่อมต่อและแยกจากกันได้สำเร็จ หลังจากที่ต้องใช้การบังคับวงโคจรที่ซับซ้อนหลายครั้ง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการซ่อมบำรุงดาวเทียม การดำเนินงานสถานีอวกาศ และภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้อินเดียมีบทบาทสำคัญทั้งในเชิงพาณิชย์และการสำรวจอวกาศ
“อินเดียมีแผนภารกิจอวกาศที่ยิ่งใหญ่รออยู่ข้างหน้า และเทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมี โดยเฉพาะภารกิจสร้างสถานีอวกาศที่ต้องประกอบชิ้นส่วนในอวกาศ ซึ่งจะทำไม่ได้เลยถ้าไม่มีเทคโนโลยีนี้”
ชัยยันต์ มูรตี นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอินเดียกล่าว
ก่อนหน้านี้ภารกิจถูกเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเพราะต้องทดสอบระบบเชื่อมต่อในภาคพื้นดินเพิ่มเติม และครั้งที่ 2 เพราะพบปัญหาดาวเทียมเคลื่อนที่เบี่ยงเบนมากเกินไป
SpaDeX ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ที่ผ่านมา ด้วยจรวดที่ผลิตในอินเดีย จากฐานปล่อยจรวดหลักของประเทศ นอกจากอุปกรณ์ทดลองต่าง ๆ แล้ว ยังมีเมล็ดถั่วฝักยาว 8 เมล็ดติดไปด้วย เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของพืชในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ผลปรากฏว่า ถั่วฝักยาวงอกออกมาจากเมล็ดภายในเวลาเพียง 4 วันหลังขึ้นสู่อวกาศ
นอกจากนี้ ภารกิจนี้ยังทดสอบการถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าระหว่างยานที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งเป็นความสามารถสำคัญสำหรับการใช้งานหุ่นยนต์อวกาศ การควบคุมยานอวกาศรวม และการทำงานหลังแยกยานออกจากกัน
เทคโนโลยีเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับภารกิจที่ต้องปล่อยจรวดหลายลำเพื่อทำงานร่วมกัน
การสำรวจและพัฒนาอวกาศเชิงพาณิชย์เป็นส่วนสำคัญในความพยายามของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่จะผลักดันอินเดียสู่การเป็นมหาอำนาจโลก
ความสำเร็จของภารกิจ SpaDeX “ถือเป็นก้าวสำคัญสู่ภารกิจอวกาศอันยิ่งใหญ่ของอินเดียในอนาคต” นายกฯ โมดีโพสต์ข้อความในเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) วันนี้
ปัจจุบัน ISRO มุ่งเน้นการสำรวจอวกาศห้วงลึก และส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาทำธุรกิจในภาคอวกาศมากขึ้น ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การศึกษาดวงอาทิตย์ ภารกิจส่งมนุษย์อวกาศ และการป้องกันดาวเคราะห์ โดยร่วมมือกับนาซา (NASA)
เดิมพันครั้งนี้สูงมาก ในขณะที่ตลาดอวกาศเชิงพาณิชย์ทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่าพุ่งถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2573 แต่ปัจจุบันอินเดียมีส่วนแบ่งแค่ 2% หรือ 8 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น รัฐบาลตั้งเป้าจะเพิ่มตัวเลขนี้ให้ถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2583
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 68)