อินเดียประกาศใช้มาตรการชุดใหญ่เพื่อลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับปากีสถานเมื่อวันพุธ (23 เม.ย.) โดยการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธบุกกราดยิง คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวไป 26 ราย ณ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในแคชเมียร์ นับเป็นการโจมตีพลเรือนที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษของอินเดีย
ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านมหาอำนาจนิวเคลียร์ในเอเชียใต้ก็อยู่ในระดับที่เปราะบางอยู่แล้ว โดยปากีสถานได้ขับทูตอินเดียออกนอกประเทศ และไม่ได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตของตนเองประจำกรุงนิวเดลี นับตั้งแต่อินเดียยกเลิกสถานะพิเศษของแคชเมียร์เมื่อปี 2562 นอกจากนี้ ปากีสถานยังได้ระงับบริการรถไฟสายหลักที่เชื่อมไปยังอินเดีย และสั่งห้ามฉายภาพยนตร์อินเดีย เพื่อกดดันทางการทูตอีกด้วย
เหตุกราดยิงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 เม.ย.) ถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และพรรคภารตียชนตา (BJP) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมฮินดู ที่เคยประกาศความสำเร็จในการยกเลิกสถานะกึ่งปกครองตนเองของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ โดยอ้างว่าจะนำมาซึ่งสันติภาพและการพัฒนาสู่ภูมิภาคที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่และมีความขัดแย้งยืดเยื้อมานาน
ในวันพุธ วิกรม มิสรี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงชุดพิเศษได้หารือถึงความเชื่อมโยงข้ามพรมแดนในเหตุโจมตีที่แคชเมียร์ และเห็นพ้องให้ดำเนินมาตรการตอบโต้ปากีสถานอย่างเด็ดขาด
มิสรีประกาศว่า รัฐบาลอินเดียจะระงับสนธิสัญญาแม่น้ำสินธุ ปี 2503 โดยมีผลทันที “จนกว่าปากีสถานจะยุติการสนับสนุนการก่อการร้ายข้ามพรมแดนอย่างน่าเชื่อถือและถาวร”
สนธิสัญญาฉบับดังกล่าว ซึ่งมีธนาคารโลกเป็นคนกลาง ได้กำหนดการแบ่งปันทรัพยากรน้ำจากแม่น้ำสินธุและแม่น้ำสาขาต่าง ๆ ระหว่างสองประเทศ และสามารถยืนหยัดผ่านมาได้แม้ในช่วงสงครามระหว่างสองชาติ
การระงับสนธิสัญญานี้ถือเป็นมาตรการที่รุนแรง เนื่องจากปากีสถานต้องพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำสายนี้ที่ไหลผ่านแคชเมียร์ฝั่งอินเดียเป็นอย่างมาก เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและชลประทาน การตัดสินใจของอินเดียครั้งนี้จะเปิดทางให้อินเดียสามารถกักน้ำในส่วนที่เป็นของปากีสถานได้
นอกจากนี้ อินเดียยังสั่งปิดจุดผ่านแดนทางบกเพียงแห่งเดียวที่ยังเปิดทำการระหว่างสองประเทศ โดยผู้ที่ข้ามมายังฝั่งอินเดียแล้วสามารถเดินทางกลับได้ก่อนวันที่ 1 พ.ค. โดยมาตรการนี้ ประกอบกับการที่ไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างกันอยู่แล้ว เท่ากับเป็นการตัดขาดเส้นทางการคมนาคมขนส่งทุกช่องทางระหว่างอินเดียกับปากีสถาน
มิสรีกล่าวเสริมว่า พลเมืองปากีสถานจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าอินเดียโดยใช้วีซ่าพิเศษสำหรับกลุ่มประเทศเอเชียใต้อีกต่อไป วีซ่าประเภทนี้ที่ออกให้ก่อนหน้าทั้งหมดถือเป็นโมฆะ และชาวปากีสถานในอินเดียที่ถือวีซ่าดังกล่าวจะต้องเดินทางออกนอกประเทศภายใน 48 ชั่วโมง
ยิ่งไปกว่านั้น ที่ปรึกษาด้านกลาโหมทุกคนในคณะผู้แทนทูตปากีสถาน ณ กรุงนิวเดลี ถูกประกาศให้เป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา” (persona non grata) และได้รับคำสั่งให้ออกนอกประเทศภายในหนึ่งสัปดาห์ ขณะเดียวกัน อินเดียจะถอนที่ปรึกษาด้านกลาโหมของตนออกจากปากีสถาน และลดจำนวนเจ้าหน้าที่ในสถานทูต ณ กรุงอิสลามาบัดลงจาก 55 คน เหลือเพียง 30 คน
“ที่ประชุมมีมติว่าจะต้องนำตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษให้ได้ และผู้สนับสนุนจะต้องรับผิดชอบ อินเดียจะไม่ลดละความพยายามในการไล่ล่าผู้ก่อการร้าย หรือผู้ที่สมรู้ร่วมคิดให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น” มิสรีกล่าว
อิซัก ดาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน โพสต์ผ่านเอ็กซ์ (X) ว่า นายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติในเช้าวันพฤหัสบดี (24 เม.ย.) เพื่อหารือถึงการตอบสนองต่อแถลงการณ์ของรัฐบาลอินเดีย
ทั้งนี้ เหตุโจมตีเกิดขึ้น ณ หุบเขาไบซารัน ในเขตปาฮัลกัม ดินแดนบนเทือกเขาหิมาลัยในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานมานานหลายทศวรรษ และเป็นสมรภูมิของสงคราม การก่อความไม่สงบ และความตึงเครียดทางการทูตหลายต่อหลายครั้ง
ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ประกอบด้วยชาวอินเดีย 25 ราย และชาวเนปาล 1 ราย นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 17 ราย ถือเป็นการโจมตีพลเรือนครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุก่อการร้ายที่มุมไบในปี 2551 และได้ทำลายบรรยากาศความสงบสุขที่เพิ่งเริ่มกลับคืนมาในแคชเมียร์ ซึ่งกำลังมีกระแสการท่องเที่ยวบูมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังการก่อความไม่สงบต่อต้านอินเดียเริ่มลดความรุนแรงลง
กลุ่มติดอาวุธ “แนวร่วมต่อต้านแคชเมียร์” (Kashmir Resistance) ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบผ่านโซเชียลมีเดีย โดยแสดงความไม่พอใจต่อการที่ “คนนอก” กว่า 85,000 คน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูมิภาค ซึ่งกลุ่มมองว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร”
หน่วยงานความมั่นคงของอินเดียระบุว่า กลุ่มแนวร่วมต่อต้านแคชเมียร์ หรือที่รู้จักอีกชื่อว่า The Resistance Front (TRF) เป็นเพียงกลุ่มบังหน้าขององค์กรติดอาวุธที่มีฐานอยู่ในปากีสถาน เช่น ลัชกาเรตัยบา (Lashkar-e-Taiba) และฮิซบุล มูจาฮิดีน (Hizbul Mujahideen)
อย่างไรก็ตาม ปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าให้การสนับสนุนความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธในแคชเมียร์มาโดยตลอด โดยยืนยันว่าให้เพียงการสนับสนุนด้านศีลธรรม การเมือง และการทูตแก่ขบวนการต่อต้านในพื้นที่เท่านั้น
“เรามีความกังวลต่อการสูญเสียชีวิตของนักท่องเที่ยว” ชาฟกัต อาลี ข่าน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน แถลงก่อนหน้านี้ “เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอให้ผู้บาดเจ็บฟื้นตัวโดยเร็ว”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 68)
Tags: ปากีสถาน, อินเดีย, แคชเมียร์