อินเดียยืนกรานไม่เข้าร่วม RCEP ชี้ไม่เป็นประโยชน์ที่จะร่วมมือกับจีน

พิยุทธ์ โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย ปฏิเสธการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยยืนกรานว่าการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศแต่อย่างใด

รมว.พาณิชย์อินเดียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า “อินเดียจะไม่เข้าร่วม RCEP เพราะความตกลงดังกล่าวไม่ได้สะท้อนหลักการสำคัญของการจัดตั้งกลุ่มอาเซียน และไม่เป็นประโยชน์ต่ออินเดียในการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน”

ข้อตกลง RCEP ได้รับการลงนามในปี 2563 โดย 15 ชาติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งคิดเป็น 30% ของ GDP ทั่วโลก และมีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค. 2565 โดยประเทศที่ลงนามประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

การเจรจา RCEP เริ่มขึ้นในปี 2556 และในเบื้องต้นมีอินเดียด้วย ซึ่งบางประเทศมองว่าเป็นการถ่วงดุลกับจีน อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 อินเดียตัดสินใจไม่เข้าร่วม RCEP โดยอ้างว่าปัญหาเกี่ยวกับ “ผลประโยชน์หลัก” ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ไม่ได้ขยายความเพิ่มเติมว่าคือปัญหาใด

รมว.พาณิชย์อินเดียระบุว่า ในตอนนั้นอินเดียมีข้อตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อยู่แล้ว ขณะที่การค้าทวิภาคีกับนิวซีแลนด์ก็มีมูลค่าถึง 300 ล้านดอลลาร์

“เกษตรกรของเราไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะ RCEP ไม่ได้สะท้อนความต้องการของอุตสาหกรรมและภาคส่วนขนาดกลางและขนาดย่อมของเรา และดูเหมือนว่าเป็นเพียงข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนเท่านั้น” เขากล่าว

“เมื่อคุณมองจากภายนอกประเทศ คุณจะดูไม่ออกเลยว่าการแข่งขันกับเศรษฐกิจที่ไม่โปร่งใสนั้นยากเพียงใด” รมว.พาณิชย์อินเดียกล่าว โดยอ้างถึงประเทศจีน

“แน่นอนว่าไม่มีใครอยากทำข้อตกลงการค้าเสรีกับเศรษฐกิจที่ไม่โปร่งใส ซึ่งก็คือไร้ความโปร่งใสในแนวปฏิบัติทางเศรษฐกิจ โดยวิธีการจัดการระบบการค้า การเมือง และเศรษฐกิจ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสิ่งที่โลกประชาธิปไตยต้องการ”

นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์อินเดียยังกล่าวหาว่าจีนใช้นโยบายขององค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อประโยชน์ของตนเอง ด้วยการทุ่มส่งออกสินค้าราคาต่ำที่มักไม่ได้มาตรฐานคุณภาพไปยังประเทศต่าง ๆ

ตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์ รถยนต์ ไปจนถึงเหล็กกล้า จีนผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่อุปสงค์ในประเทศไม่สอดรับกับอุปทาน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าราคาถูกไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 67)

Tags: , , , , ,