“อาเซียน” สำคัญอย่างไร เหตุใดว่าที่รมว.กลาโหมสหรัฐฯ อ้ำอึ้งไม่รู้จัก

อาเซียนได้กลายเป็นจุดสนใจในระหว่างการพิจารณายืนยันตำแหน่งโดยคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 ม.ค.) เมื่อแทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทยจากรัฐอิลลินอยส์ ได้ซักถาม พีต เฮกเซธ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อโดยว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

สว.จากพรรคเดโมแครตตั้งคำถามว่าที่รมว.กลาโหม เพื่อทดสอบ ‘ความรู้ลึกและกว้าง’ ซึ่งจำเป็นต่อการเป็นผู้นำในการเจรจาระหว่างประเทศ โดยขอให้เฮกเซธระบุชื่อประเทศสมาชิกอาเซียนมาสักหนึ่งประเทศ อธิบายลักษณะข้อตกลงที่สหรัฐฯ มีกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ และบอกจำนวนประเทศสมาชิกทั้งหมดในอาเซียน

“ผมบอกตัวเลขแน่ชัดไม่ได้ แต่ผมรู้ว่าเรามีพันธมิตรในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และในออคัส (AUKUS) กับออสเตรเลีย” เฮกเซธตอบ โดยอ้างถึงข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอังกฤษ

“ทั้งสามประเทศนั้นไม่ได้อยู่ในอาเซียนเลย” สว.ดักเวิร์ธ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตจากรัฐอิลลินอยส์ ตอบกลับ “ฉันขอแนะนำให้คุณกลับไปทำการบ้านมาใหม่”

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนและกลายเป็นไวรัลตามสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งในแง่ของการตั้งคำถามถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างรมว.กลาโหมสหรัฐฯ และในแง่ที่ว่า แล้วอาเซียนสำคัญอย่างไร

*อาเซียนคืออะไร และมีความสำคัญกับสหรัฐฯ อย่างไร

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) เป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ณ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค

แรกเริ่ม อาเซียนประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาได้ขยายจำนวนประเทศสมาชิกเป็น 10 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศที่เพิ่มเติมเข้ามา ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว และเมียนมา ทำให้ปัจจุบัน อาเซียนมีประชากรรวมกันมากกว่า 650 ล้านคน และมี GDP คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

คำถามของสว.ดักเวิร์ธเกิดขึ้นหลังจากเฮกเซธได้กล่าวถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่อิทธิพลของจีนกำลังเติบโตแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว และปักกิ่งมีความแข็งกร้าวมากขึ้นในการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนต่าง ๆ

ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ต่างมีข้อพิพาททางทะเลกับจีนเกี่ยวกับการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดของโลก นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังได้แสดงความกังวลกรณีที่ปักกิ่งรุกล้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ

*อาเซียนเกี่ยวข้องอย่างไรกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกาและไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2376 นับเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่สหรัฐฯ ทำกับประเทศในเอเชีย ทำให้ไทยกลายเป็นมิตรประเทศเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

นอกเหนือจากความสัมพันธ์กับไทยแล้ว สหรัฐฯ ยังลงนามในสนธิสัญญากับฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน ซึ่งวอชิงตันก็พยายามใช้อิทธิพลผ่านกรอบความร่วมมือของอาเซียนเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีน พร้อมส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้เป็น “ภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง มีการเชื่อมต่อ มั่งคั่ง ปลอดภัย และยืดหยุ่น”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศว่า อาเซียนเป็น “หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกในรัฐบาลของผม” ทั้งยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำอาเซียนที่กรุงวอชิงตันในปี 2565

ทั้งนี้ อาเซียนจัดการประชุมระดับสูงเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้มาเลเซียได้รับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของกลุ่ม หนึ่งในการประชุมสำคัญ ได้แก่ การประชุมด้านกลาโหมที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย และการประชุมสุดยอดประจำปีที่ซึ่งทั้งประธานาธิบดีไบเดนและทรัมป์ต่างก็เคยเข้าร่วมการประชุมนี้มาแล้ว

*เหตุผลอะไรอีกที่ทำให้อาเซียนมีความสำคัญกับสหรัฐฯ

อาเซียนมีความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาด้วยหลายปัจจัย โดยเฉพาะในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อน แม้ว่าบางประเทศสมาชิกจะมีข้อพิพาทด้านดินแดนกับจีน แต่หลายประเทศก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับปักกิ่ง สะท้อนผ่านการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจีนในการประชุมอาเซียน

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนได้รับการยกระดับเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” ในปี 2565 ซึ่งมีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้วอชิงตันมีสถานะทัดเทียมกับจีน ที่ได้รับการยกระดับความสัมพันธ์ในปีก่อนหน้า

อาเซียนมีเอกลักษณ์พิเศษในการเป็นเวทีจัดการประเด็นภูมิรัฐศาสตร์สำคัญ ด้วยหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน การทูตระดับบุคคล และความหลากหลายของสมาชิกและพันธมิตร ซึ่งนอกจากจีนและสหรัฐฯ แล้ว อาเซียนยังมีความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

อาเซียนจัดการประชุมประจำปีในหลายรูปแบบ ได้แก่ “ASEAN Plus Three” ร่วมกับผู้นำจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น “ASEAN Plus Six” ที่เพิ่มเติมผู้นำจากออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์ รวมถึงการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่มีรัสเซียและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วย

ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นแกนหลักของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ลงนามในปี 2563 โดยประเทศสมาชิก 10 ประเทศร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมประชากรกว่า 30% ของโลก และประมาณ 30% ของ GDP โลก ข้อตกลงนี้ริเริ่มขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนปี 2554 ครอบคลุมความร่วมมือด้านการค้าสินค้าและบริการ การลงทุน และอีกหลายด้าน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 68)

Tags: , ,