อังกฤษกำหนดมาตรการลงโทษที่เข้มงวดมากขึ้นต่อนายจ้างที่เอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว หลังผลการศึกษาล่าสุดเผยให้เห็นว่ามีการกดขี่แรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานบริบาล (Social Care) ซึ่งเป็นงานดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเนื่องด้วยความเจ็บป่วย ความพิการ หรือวัย
รัฐบาลระบุว่า ธุรกิจที่ละเมิดข้อกำหนดด้านวีซ่าซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือละเมิดกฎเกณฑ์การจ้างงานอย่างร้ายแรง เช่น ไม่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ จะถูกห้ามไม่ให้จ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลาสองปี เพิ่มขึ้นจาก 12 เดือนในปัจจุบัน นอกจากนี้ มาตรการลงโทษดังกล่าวยังรวมถึงการกำหนดให้ธุรกิจที่ฝ่าฝืนต้องดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาที่เฉพาะเจาะจง โดยจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 12 เดือน เพิ่มขึ้นจากสามเดือนในปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายสิทธิการจ้างงาน (Employment Rights Bill) ของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้พรรคแรงงาน
ซีมา มัลโฮตรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการย้ายถิ่นฐานและพลเมือง กล่าวว่า การเอารัดเอาเปรียบแรงงานเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
“เป็นเรื่องน่าละอายที่การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในงานบริบาล ทั้งที่แรงงานเดินทางมาสหราชอาณาจักรเพื่อสนับสนุนบริการด้านสุขภาพและงานบริบาลของเรา แต่กลับพบว่าตนเองต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงและหนี้สินอย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งสิ่งนี้สามารถยุติได้ และต้องยุติ”
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อังกฤษได้เปิดตัววีซ่าสำหรับผู้บริบาลเพื่อเติมเต็มตำแหน่งงานว่างหลายพันตำแหน่ง แต่ด้วยหลายปัจจัย เช่น ค่าจ้างต่ำ และสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ทำให้แรงงานต่างด้าวในภาคธุรกิจนี้เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น โดยเกือบหนึ่งในสามของผู้บริบาลในอังกฤษเป็นผู้อพยพซึ่งเดินทางมาจากประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย ไนจีเรีย ซิมบับเว และฟิลิปปินส์
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในเดือนนี้แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจการบริบาลในอังกฤษที่ได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าวนั้น มีจำนวนมากถึงเกือบ 200 รายที่มีประวัติละเมิดแรงงาน ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการเพิกถอนใบอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างด้าวในงานบริบาลถึงประมาณ 450 ฉบับนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 67)
Tags: นายจ้าง, อังกฤษ, แรงงานต่างด้าว