นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 17-23 มีนาคม 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,271,902 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 253ข้อความ แบ่งเป็นข้อความที่มาจาก Social listening 205 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Line Official 44 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Website 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 146 เรื่อง
ทั้งนี้ ดีอีเอสได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
- กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 69 เรื่อง
- กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 62 เรื่อง
- กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 10 เรื่อง
- กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 5 เรื่อง
สำหรับข่าวปลอมทั้ง 4 กลุ่ม มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องโควิค-19 จำนวน 1 เรื่อง
สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับระหว่างวันที่ 17 – 23 มีนาคม 2566 ดังนี้
- อันดับที่ 1 เรื่อง ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่อเพื่อพ่อค้าแม่ค้า ผ่านเพจ GSB Thailand Easy
- อันดับที่ 2 เรื่อง ไปรษณีย์ไทยส่ง SMS แจ้งพัสดุถูกตีกลับ
- อันดับที่ 3 เรื่อง ไปรษณีย์ไทย และกรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครพนักงานตรวจสอบคำสั่งซื้อ
- อันดับที่ 4 เรื่อง เพจ Mymo สินเชื่อเพื่อคุณ เปิดให้ยืมเงิน ผ่อนเพียง 940 บาท/เดือน
- อันดับที่ 5 เรื่อง ฝุ่น PM 2.5 มีความเสี่ยงกับโรคความดันโลหิตสูงทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้หญิง
- อันดับที่ 6 เรื่อง ธ.ออมสินเปิดลงทะเบียนสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนผ่านเพจเฟซบุ๊ก
- อันดับที่ 7 เรื่อง กรมการจัดหางานรับสมัครผู้ช่วยโปรโมทตัวอย่างหนัง หมดเขต 31 มี.ค. 66
- อันดับที่ 8 เรื่อง เพจเฟซบุ๊กสำนักงาน ก.ล.ต. ขอบคุณความคิดริเริ่มในการแจกคริปโทเคอร์เรนซี
- อันดับที่ 9 เรื่อง คลิปผู้โดยสารที่เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินโอกินาว่า ถูกค้นกระเป๋าโดยสาร
- อันดับที่ 10 เรื่อง แอปพลิเคชัน PEA Smart Plus ดาวน์โหลดง่าย ๆ ผ่านลิงก์
“เมื่อพิจารณาข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวปลอมหลอกลวงประชาชน โดยแอบอ้างชื่อและโลโก้ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อเพื่อพ่อค้าแม่ค้า ผ่านเพจ GSB Thailand Easy วงเงิน 20,000-500,000 บาท ขณะที่ข่าวปลอมไปรษณีย์ไทย ส่ง SMS แจ้งว่ามีพัสดุตกค้างและถูกตีกลับ พร้อมแนบลิงก์หลอกโห้โอนชำระค่าบริการเพื่อดูดข้อมูล ยังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงอยากเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นผู้ให้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และควรติดต่อไปยังผู้ให้บริการที่ถูกอ้างชื่อถึงก่อนตัดสินใจโอนเงิน เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพย์สิน” นายเวทางค์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 66)
Tags: กระทรวงดีอีเอส, ข่าวปลอม, ธนาคารออมสิน