มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเปิดเผยในวันนี้ (11 ม.ค.) ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้เริ่มทดสอบวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah) กับมนุษย์แล้ว โดยเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสมอง ซึ่งได้แพร่ระบาดในรัฐเกรละทางตอนใต้ของอินเดียและในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของเอเชีย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เชื้อไวรัสนิปาห์ถูกพบครั้งแรกเมื่อราว 25 ปีก่อนในมาเลเซีย และได้แพร่ระบาดในบังกลาเทศ อินเดีย และสิงคโปร์ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสอันตรายชนิดนี้ได้
องค์การอนามัยโลกระบุว่า การติดเชื้อไวรัสนิปาห์อาจก่อให้เกิดอาการไข้ ปวดศีรษะ ไอ และหายใจลำบาก รวมถึงอาการสมองบวมตามมา และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 40-75%
ผู้เข้าร่วมการทดสอบวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดในโครงการนี้ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสนิปาห์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งวัคซีนดังกล่าวใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และสถาบันเซรัมแห่งอินเดีย (Serum Institute of India)
โฆษกของสถาบันโรคระบาดวิทยาของออกซ์ฟอร์ดเปิดเผยว่า การทดลองระยะเริ่มต้นนี้มีอาสาสมัครรวมกัน 51 ราย โดยจะดำเนินการที่ออกซ์ฟอร์ด เพื่อประเมินความปลอดภัยและการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของวัคซีนในผู้ที่มีอายุ 18-55 ปี และคาดว่าจะดำเนินการทดลองต่ออีกในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสนิปาห์
ดร.อิน-คิว ยุน ผู้บริหารของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือกับโรคระบาด (CEPI) กล่าวว่า “เชื้อไวรัสนิปาห์มีศักยภาพในการแพร่ระบาด เนื่องจากค้างคาวผลไม้ซึ่งเป็นพาหะนำโรคพบได้ในพื้นที่ต่าง ๆ อันเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 2 พันล้านคน การทดสอบในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความพยายามในการสร้างชุดเครื่องมือป้องกันไวรัสอันตรายชนิดนี้”
ทั้งนี้ รัฐเกรละของอินเดียเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนิปาห์เมื่อเดือนก.ย. ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 แล้วในรอบ 5 ปี โดยมีผู้ติดเชื้อ 6 รายและเสียชีวิต 2 ราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 67)
Tags: เชื้อไวรัสนิปาห์