นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Medical Mask หรือ Surgical Mask) และหน้ากาก N95 ทางการแพทย์ จัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องมาขออนุญาตกับ อย. ก่อน ซึ่งจากการตรวจสอบพบมีผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 109 บริษัท และผู้นำเข้า จำนวน 65 บริษัท ผู้ผลิตหน้ากาก N95 ทางการแพทย์ จำนวน 10 บริษัท และผู้นำเข้า จำนวน 26 บริษัท
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตและนำเข้า ต้องยื่นเอกสารผลการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ตามที่ อย. กำหนดไว้ ทั้งประสิทธิภาพการกรองอนุภาค (PFE) มากกว่า 95 % ประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรีย (BFE) ประสิทธิภาพการป้องกันของเหลวซึมผ่าน ความแตกต่างของความดัน เป็นต้น
นอกจากนี้ อย. ยังมีมาตรการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในท้องตลาด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค โดยที่ผ่านมา ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากาก N95 ทางการแพทย์ ทั้งผลิตและนำเข้าอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินการกับบริษัทที่มีผลการทดสอบไม่เป็นไปตามที่ อย. กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน
สำหรับหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป ทั้งหน้ากากอนามัย N95 แบบทั่วไป และหน้ากากผ้าที่มีวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น หน้ากากกันฝุ่น กันกลิ่น จะไม่จัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ จึงไม่อยู่ในการกำกับดูแลของ อย. อย่างไรก็ตาม หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป หน้ากากอนามัย N95 แบบทั่วไป และหน้ากากผ้ายังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการทะลุผ่านของละอองฝอย ซึ่งช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เช่นเดียวกัน
รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ได้จากเลขที่ใบรับจดแจ้งหรือเลขที่ที่ปรากฏอยู่ในกรอบของ อย. บนฉลากของผลิตภัณฑ์ ได้ที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์”
ในขณะเดียวกัน เพื่อความปลอดภัย ขอให้ผู้บริโภครักษามาตรการป้องกันโควิด-19 โดยสวมใส่หน้ากากตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 64)
Tags: คณะกรรมการอาหารและยา, สุรโชค ต่างวิวัฒน์, หน้ากากอนามัย, อย.