นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงกรณีเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกกัญชา ออกมาสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการแปรรูปกัญชา กัญชง เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยยังติดขัดในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการขออนุญาตนั้นว่า สำนักงาน อย.ได้ออกกฎหมายรองรับการปลดล็อก กัญชา กัญชง ให้สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้แล้ว
กรณีการนำไปใช้ในเครื่องสำอาง กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกำหนดเงื่อนไขการใช้น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชงส่วนของกัญชาส่วนของกัญชง รวมทั้งสารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (จากกัญชาและกัญชง) แล้วและเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค คณะกรรมการเครื่องสำอางยังได้ออกประกาศให้แสดงคำเตือนที่ฉลากของเครื่องสำอางดังกล่าวด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร อย.ได้จัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 โดยปลดล็อค กัญชา กัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ให้สามารถนำมาใช้ในอาหาร และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 425) พ.ศ. 2564 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชงให้สามารถนำเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชงมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร
เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารซีเรียล เบเกอรี่ เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น ส่วนน้ำมันจากเมล็ดกัญชง ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง เป็นต้น
ทั้งนี้ ให้ใช้ในปริมาณตามเงื่อนไขที่กำหนด และอยู่ในระหว่างจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ และ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม
ในส่วนของผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีคำแนะนำสำหรับการขออนุญาตลผลิตภัณฑ์สมุนไพร 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ตำรับยาจากสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของใบและกิ่งก้านกัญชา ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้นอนไม่หลับ/ ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง และยาแก้โรคจิต 2) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรชนิดใช้ภายนอก ที่ใช้ใบ ลำต้น กิ่ง ก้าน ราก สารสกัดกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบที่ไม่ใช่สารออกฤทธิ์ 3) ชาสมุนไพรจากใบกัญชา กัญชง
อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตแต่ละผลิตภัณฑ์ ให้ศึกษารายละเอียด และดาวน์โหลดเอกสาร ประกาศ คำชี้แจง คำแนะนำ รวมถึงหลักเกณฑ์ในการจดแจ้งเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชาและกัญชง การขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้จาก www.fda.moph.go.th ขอคำปรึกษาได้ที่ อย.ซึ่ง อย. พร้อมสนับสนุน อำนวยความสะดวก เพื่อส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง ไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อนำรายได้สู่ชุมชนและประเทศชาติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 64)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, กัญชง, กัญชา, คณะกรรมการอาหารและยา, วิทิต สฤษฎีชัยกุล, อย.