คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มีนายนิกร จำนง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธาน ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษากลุ่มอาชีพและภาคส่วนต่างๆ ประชาชน 4 ภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้) รวมทั้งสมาชิกรัฐสภา (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา) เพื่อจัดทำรายงานผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ พร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดใหญ่ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ โดยสรุป 3 ประเด็น ดังนี้
1.ประเด็นจำนวนครั้งในการทำประชามติ เนื่องจากเสียงส่วนมากของทุกกลุ่มเห็นด้วยกับการจัดให้มีการทำประชามติก่อนเริ่มดำเนินการใดๆ ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเห็นด้วยว่า ให้มีการทำประชามติเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะให้รัฐบาลจัดให้มีการออกเสียงประชามติ จำนวน 3 ครั้ง
2.ประเด็นคำถามประชามติ เห็นว่า ควรเป็นคำถามที่ง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา แต่ครอบคลุม โดยสาระสำคัญที่จะสร้างแนวร่วมเพื่อความเห็นชอบ
2.1 กรณีคำถามเดียว
-
แบบที่ 1 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์”
-
แบบที่ 2 : “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ”
2.2 กรณีสองคำถาม
-
แบบที่ 1 คำถามที่ 1 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์” และคำถามที่ 2 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
-
แบบที่ 2 คำถามที่ 1 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ” และ คำถามที่ 2 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
3.ประเด็นจำนวนและที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แม้กลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสียงส่วนมากเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เสียงส่วนมากอีกส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยที่ สสร.จะมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด ประกอบกับสมาชิกวุฒิสภาเสียงส่วนมากเห็นด้วยกับ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการที่ได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1 คน (77 คน) และมาจากรัฐสภาเลือกจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์จำนวน 23 คน ดังต่อไปนี้
-
ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน จำนวน 5 คน
-
ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรั ฐประศาสนศาสตร์หรือสั งคมศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ จำนวน 4 คน
-
ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด จำนวน 4 คน
-
รัฐสภาเลือกจากบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงาน หรือทำงานในองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านผู้พิการหรือทุพพลภาผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้านละ 2 คน (รวม 10 คน)
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่า ประชาชนมีความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แตกต่างหลากหลาย จึงเห็นสมควรรวบรวมความเห็นของประชาชน เพื่อจัดส่งให้องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
นายนิกร กล่าวว่า จะนำมติที่ประชุมวันนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในที่ 25 ธ.ค.66 นี้ต่อไป ก่อนนำเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป นอกจากนี้ จะเสนอที่ประชุมชุดใหญ่พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อให้หลักเกณฑ์สะดวกขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 66)