นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาการเงินการคลัง คณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า “กองทุนประกันสังคม” ถือเป็นเสาหลักของระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ จัดตั้งมาเป็นเวลามากกว่า 34 ปีแล้ว เป็นหลักประกันทางสังคมให้กับลูกจ้างผู้ประกันตน ช่วยทำให้เกิดเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เงินสมทบของ 3 ฝ่าย ได้แก่ ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาล โดยได้ให้หลักประกันทางสังคมครอบคลุมสิทธิทั้งหมด 7 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยไม่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน (กรณีเจ็บป่วยเกี่ยวเนื่องกับการทำงานกองทุนเงินทดแทนจะเข้ามาดูแล) ทุพพลภาพ เสียชีวิต สิทธิประโยชน์คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร สิทธิประโยชน์ชราภาพและสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงาน คุ้มครองดูแลผู้ใช้แรงงานทั้งหมด 13.7 ล้านคน (แบ่งเป็นตามมาตรา 33 ประมาณ 11.9 ล้านคน ตามมาตรา 39 ประมาณ 1.6 ล้านคน ตามมาตรา 40 ประมาณ 0.9 ล้านคน)
ความวิตกกังวลเรื่อง อนาคตของกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงเรื่องความยั่งยืนทางการเงิน จะไม่สามารถจ่ายบำนาญได้ในอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เพราะโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป ประชากรในวัยทำงานจ่ายสมทบให้กองทุนลดลง ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยชราที่ได้รับสิทธิบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีเงินไหลออก หรือรายจ่ายบำนาญมากกว่าไหลเข้า (เงินสมทบ)
ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งในหลายประเทศที่ผู้เชี่ยวชาญและองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ พยากรณ์ว่า หากไม่มีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ กองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมจะไม่มีเงินจ่ายบำนาญให้กับผู้ประกันตนในปี พ.ศ. 2597 คือ อีก 30 ปีข้างหน้า สภาวะกองทุนชราภาพล้มละลาย จะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศที่มีการวางแผนล่วงหน้าไว้อย่างดี และมีการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง
“การสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนชราภาพ ของกองทุนประกันสังคมนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน หรือของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันสร้างความยั่งยืน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การพัฒนาให้ “กองทุนประกันสังคม” เป็นเสาหลักของระบบสวัสดิการสังคมของไทย มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ จำเป็นต่อการรับมือความท้าทายจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน และอนาคต “ระบบประกันสังคม” จะเป็นพื้นฐานในการที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การมี “ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า” ในอนาคต ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ห่างไกลหากเปรียบเทียบกับประเทศยุโรปเหนือ ที่มีสัดส่วนภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 35-48% (สัดส่วนภาษีต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 14.6%)
ส่วนรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีของไทย อยู่ที่ 4.8% อยู่ในระดับต่ำกว่าเฉลี่ยเล็กน้อย เมื่อเทียบกันประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน แต่รายจ่ายสวัสดิการสังคม จะเป็นภาระทางงบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสังคมผู้สูงวัย
“ขณะนี้ สัดส่วนรายจ่ายด้านสวัสดิการต่องบประมาณอยู่ที่ 20-23% สิ่งนี้ตอกย้ำชัดเจนว่า ทำไมเราต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐ ปฏิรูประบบภาษี ทำไมเราต้องให้เศรษฐกิจไทย มีอัตราการขยายสูงกว่าในระดับปัจจุบัน และมีการกระจายรายได้ที่ดีกว่าเดิม” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การออกแบบให้ระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานให้มากที่สุด เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพื่อให้คนทำงานทุกท่านไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ แรงงานภาคเกษตร ได้หลักประกันในชีวิตและความคุ้มครองทางสังคมจากระบบประกันสังคม ขณะนี้ มีคนทำงานประมาณ 59% ประมาณ 23.5 ล้านคน ที่อยู่นอกระบบหลักประกันทางสังคมของรัฐ ขณะที่ผู้ที่เป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วตามมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 จะพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้เพิ่มเติมอย่างไรได้บ้าง โดยคำนึงถึงความยั่งยืนระยะยาวตามหลักการคณิตศาสตร์ประกันภัย การพัฒนาระบบประกันสังคมให้รองรับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ตามพลวัตของธุรกิจอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
นายอนุสรณ์ มองว่า ผู้ประกันตนที่มีรายได้สูงกว่าเพดานค่าจ้างที่ใช้คำนวณสิทธิประโยชน์และเงินสมทบ ควรมีการศึกษาวิจัยว่า จะให้มีจ่ายเงินสมทบในอัตราก้าวหน้าดีหรือไม่ รายได้สูง จ่ายเพิ่มเงินสมทบ และได้สิทธิประโยชน์บำนาญเพิ่ม นอกจากนี้ การขยายฐานสมาชิกผู้ประกันตนต้องทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพิ่มเพดานค่าจ้าง และเงินสมทบ ทยอยเพิ่มอายุผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญ ซึ่งอาจทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“การปรับเพดานเงินสมทบ ต้องมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระดับเงินบำนาญ การบริการทางการแพทย์ และการเพิ่มสิทธิรักษาแบบประคับประคอง สิทธิรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) คือ การให้สิทธิประโยชน์เยียวยา กลุ่มลูกจ้างที่เจ็บป่วยร้ายแรงจนไม่สามารถทำงานได้ หรือมีโอกาสเสียชีวิตสูง ส่งผลให้ครอบครัวขาดเสาหลักในการสร้างรายได้ ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้” นายอนุสรณ์ กล่าว
โดยมองว่า อีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ กองทุนประกันสังคมมีความยั่งยืน คือ การปรับแนวทางการบริหารการลงทุนเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนของเงินกองทุนให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเฉลี่ย 5% แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องการบริหารความเสี่ยง หากมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด หรือ เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ ต้องมีระบบและกลไกที่เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดมีความซับซ้อนกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาด
นายอนุสรณ์ เห็นว่า การลงทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ผู้ประกันตน จะช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายของกองทุนประกันสังคม การป้องกันการเกิดโรค มีต้นทุนระยะยาวที่ถูกกว่าการรักษาอย่างมาก ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีและ AI มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของผู้ประกันตน ให้เกิดการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ และเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ด้านสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น พัฒนาระบบการพยากรณ์ด้านสุขภาพของผู้ประกันตนรายบุคคล ให้ทราบถึงสภาวะความเป็นไปได้ด้านสุขภาพ ส่งเสริมให้เกิดความตระหนัก และใส่ใจดูแลป้องกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ ด้วยการมีวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตที่ไม่สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ
“รัฐบาลควรมีแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพ บูรณาการสิทธิประโยชน์ และการบริการทางการแพทย์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ลดภาระทางการเงินการคลังของประเทศ” นายอนุสรณ์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 67)
Tags: กองทุนประกันสังคม, ประกันสังคม, อนุสรณ์ ธรรมใจ