อนุสรณ์ แนะรัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาปัจจัยให้รอบคอบทุกมิติ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน และองค์กรผู้ใช้แรงงาน ที่เสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทอัตราเดียวทั่วประเทศ ว่า เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่การปรับเพิ่มขึ้นเท่าไรนั้นควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติ เพื่อให้เกิดผลดีต่อสวัสดิภาพต่อแรงงานอย่างแท้จริง และเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ หรือเกิดปัญหาการเพิ่มขึ้นของการว่างงาน รวมทั้งเพิ่มต้นทุนของการผลิตมากเกินไป

“การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและใช้กลไกไตรภาคี การใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่า โดยเฉพาะในมิติความเป็นธรรมและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” นายอนุสรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ควรต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยสูงกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% (เป้าเงินเฟ้อเดิมของกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ 0.7-2.4%) โดยเงินเฟ้อเดือนมีนาคมที่ผ่าน อยู่ที่ 5.73% สูงที่สุดในรอบ 13 ปี ฉะนั้น ควรมีการปรับค่าแรงให้ผู้ใช้แรงงานเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพและมีเงินออม รวมทั้งมีเงินเหลือพอดูแลสมาชิกในครอบครัวได้บ้าง ซึ่งในปีนี้ควรเห็นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 380-400 บาท

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับตัวขึ้นสูงแน่ เป็นเพียงแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทยเท่านั้น ยังมีแนวโน้มอื่นๆอีก ที่ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัว และรัฐต้องมีนโยบายและมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มที่สำคัญและยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายว่าค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว พบว่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (PPP) อยู่ในระดับปานกลาง ผลิตภาพการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเป็นตัวกำหนดระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

พร้อมกันนี้ ได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

ข้อ 1 รัฐบาลควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของแรงงานดีขึ้นโดยรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมาดูแล จะเกิดกลไกและกระบวนการในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้นในระดับสถานประกอบการแต่ละแห่ง แต่ต้องทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในภาคการผลิตภาคบริการต่างๆ ด้วย

ข้อ 2 ขอให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้รัฐบาลดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการ ที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ปฏิบัติ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 (เกี่ยวกับการจ้างงานแบบเหมาช่วงหรือซับคอนแทรค) อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ลูกจ้างซับคอนแทรคได้รับความเป็นธรรมทางด้านสวัสดิการและการจ้างงาน

ข้อ 3 ขอให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 เฉพาะส่วนที่ตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือนที่ทำงานล่วงเวลาไม่ให้ได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเช่นเดียวกับลูกจ้างรายวัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 27 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

ข้อ 4 ขอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมาย ให้หนี้ที่เกิดจากเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อยู่ในบุริมสิทธิ์ลำดับที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ข้อ 5 ขอให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้

ข้อ 6 ขอเสนอให้สร้างโอกาสให้หญิงและชาย รวมทั้งแรงงานต่างด้าว มีงานที่มีคุณค่าและก่อให้เกิดความสำเร็จโดยจะต้องมีเสรีภาพ เสมอภาค ความมั่นคงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นายอนุสรณ์ ยังแสดงความเห็นถึงความจำเป็นในการขยับเพดานการแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซลเป็น 32 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระทางการคลังและอุดหนุนราคาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก การใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมีความสำคัญและจำเป็นต่อเศรษฐกิจในสถานการณ์ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซียและยูเครน การแทรกแซงราคาน้ำมันไปเรื่อยๆ ไม่อาจทำได้ในระยะยาวโดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพราะจะนำมาสู่ปัญหาเรื่องฐานะทางการคลังแน่นอน ขณะที่การไม่แทรกแซงราคาน้ำมันก็จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าหลังการขยับเพดานราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปที่ระดับ 32 บาทต่อลิตร ประกอบกับการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิต 3 บาท จะทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นจากระดับเฉลี่ยในระดับปัจจุบันอีกอย่างน้อย 1-2% ซึ่งเท่ากับจะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อในระดับ 7-8% ในช่วงปลายปี อัตราเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าว จะกระทบแรงงานผู้มีเงินเดือนประจำมากกว่า ผู้ประกอบการที่อาจผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ ผู้ผลิตจะส่งผ่านต้นทุนเป็นทอดตลอดกระบวนการการผลิต

สิ่งที่จับตา คือ ราคาน้ำมัน ราคาสินโภคภัณฑ์โลกเกี่ยวเนื่องกับสงครามยูเครนจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ และปัจจัยด้านอุปทานเกี่ยวกับการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกและการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยในประเทศไม่ปรับเพิ่ม เงินจะไหลออกจากบัญชีเงินฝากมาถือและลงทุนในทองคำมากขึ้น ส่วนแนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกแม้นอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ราคาจะชะลอลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ โดยเฉพาะจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา

“การที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ก็เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือทองคำสูงขึ้น จึงกดราคาทองคำไม่ให้สูงขึ้นมาก เพราะการถือหรือลงทุนในทองคำไม่มีดอกเบี้ย ผลกำไรจากการถือและลงทุนในทองคำ เป็นผลจากส่วนต่างของราคาซื้อขาย ขณะที่คริปโตเคอร์เรนซี่นั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าทองคำมาก และมีแนวโน้มเกิดฟองสบู่แตกอีกรอบหนึ่ง หากทิศทางดอกเบี้ยโลกยังปรับเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่อง” นายอนุสรณ์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ค. 65)

Tags: , , ,