นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถาบันทางเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน รวมทั้งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 กำลังมาถึงขีดจำกัด และจำเป็นต้องปฏิรูปและปรับโครงสร้างใหม่กันอีกรอบ เพื่อเป็นฐานสำหรับการเติบโตใหม่ในทศวรรษหน้า
พร้อมมองว่า นโยบายประชานิยมและนโยบายเพิ่มสวัสดิการสังคม ที่เป็นจุดเน้นของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ แทบไม่มีพรรคการเมืองพรรคไหน พูดถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในรายละเอียด
ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมสวัสดิการจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี ตามโครงสร้างสังคมสูงวัย พร้อมกับอัตราการเกิดต่ำมาก จะเกิดภาวะประชากรหดตัวในไม่ช้า และจะเกิด “กับดักประชานิยมสวัสดิการ” ได้ หากไม่ปรับปรุงให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินของระบบสวัสดิการเหล่านี้ การปฏิรูปภาษีและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดฐานรายได้ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ยาก ยกเว้นมีเจตจำนงทางการเมืองอันเข้มแข็ง มีการจัดสรรทรัพยากรทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ขณะนี้มีเงินฝากล้นระบบธนาคารจำนวนมาก อัตราสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ย่อมทำให้ครัวเรือนที่มีความสามารถอาจไม่ได้สินเชื่ออย่างเหมาะสม และทำให้กิจการขนาดย่อมขนาดเล็ก ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเต็มที่ ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ และการขยายตัวของประสิทธิภาพของการผลิตรวมลดลงตามไปด้วย นโยบายการเงินที่ดี ควรจะต้องออกแบบให้ระบบสถาบันการเงินมีแรงจูงใจ หรือสามารถที่จะสร้างเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้ครัวเรือนที่มีความสามารถสูงใช้บริการได้อย่างสะดวก
นายอนุสรณ์ มองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยนั้น ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกิจการส่งออก ล้วนเป็นเทคโนโลยีต่างชาติที่เราซื้อมาทั้งสิ้น การสร้างขึ้นมาเอง หรือพัฒนาต่อยอด สร้างนวัตกรรมสร้างฐานเติบโตใหม่ หากรัฐบาลใหม่ต้องการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลางโดยอาศัยการเติบโตภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลัก รัฐบาลใหม่ต้องมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เหมาะสม อุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในแข่งขันสูงและมีผลิตภาพสูง รัฐควรมีนโยบายเชิงรับ เช่น สนับสนุนการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ลดการทุจริตรั่วไหล
ส่วนอุตสาหกรรมที่ไทยมีผลิตภาพต่ำแข่งขันได้ไม่ดีนัก ควรใช้นโยบายเชิงรุก เช่น การให้สินเชื่อสนับสนุน การใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน และใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหากจำเป็น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ต้องเน้นการสนับสนุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการปรับระบบภาษี เพื่อให้เกิดแรงจูงใจและความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นผ่านผลิตภาพที่สูงขึ้น
นายอนุสรณ์ เห็นว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย จะไม่สามารถทำให้แรงงานส่วนใหญ่หลุดพ้นจากความยากจนในวงกว้างได้ เนื่องจากแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ไม่ได้อยู่ในระบบคุ้มครองแรงงานจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ การก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว จำเป็นต้องมุ่งยกระดับรายได้ของแรงงานทั้งหมด ทั้งในระบบ และนอกระบบการคุ้มครองแรงงาน
หากรัฐบาลใหม่ วางเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยมีระบบรัฐสวัสดิการแบบยุโรปเหนือย่อมทำได้ แต่เป็นเรื่องที่อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ และไม่ใช่เรื่องง่าย ประเทศรัฐสวัสดิการมักเป็นประเทศที่มีระบบราชการหรือระบบรัฐการที่ใหญ่ Bigger Government ไม่ใช่ Smaller Government ประเทศรัฐสวัสดิการต้องมีระบบราชการ และระบบการเมืองที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นรัฐสวัสดิการที่ล้มเหลว หรือประสบปัญหาความยั่งยืนทางการเงินการคลัง เกิดวิกฤติทางการคลัง นำไปสู่การลดขนาดของระบบราชการ และลดสวัสดิการของรัฐในที่สุด
ทั้งนี้ การเดินหน้าระบบรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบในไทย เรื่องแรกที่ต้องตอบให้ได้ คือ ระบบราชการไทยเป็นอย่างไร กรณีแรกไทย ต้องปรับเปลี่ยนระบบราชการให้โปร่งใสมีประสิทธิภาพก่อน คือ ต้องปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ พร้อมกับการกระจายอำนาจการจัดระบบสวัสดิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เรื่องที่สอง คือ ต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐและเพิ่มภาษี ไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเพียงแค่ 14% เท่านั้น จึงยังห่างไกลต่อการมีฐานะทางการคลังที่สามารถสนับสนุนรัฐสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบอย่างสแกนดิเนเวียได้ เพราะประเทศแถบสแกนดิเนเวียมีสัดส่วนรายได้ภาษีอยู่ที่ระดับ 42-48.9% ของจีดีพี การขยายฐานภาษี จึงควรเดินหน้าจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่วนการจะก่อหนี้มาเพื่อจ่ายสวัสดิการสังคมเพิ่ม ควรต้องทำอย่างระมัดระวัง
เรื่องที่สาม ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมเมื่อเทียบกับจีดีพี และเทียบกับงบประมาณ โดยไทยมีรายจ่ายด้านสวัสดิการเทียบกับจีดีพีและเทียบกับงบประมาณค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ระบบรัฐสวัสดิการจึงต้องใช้เวลา หากประเมินจากฐานะการเงินการคลังของประเทศ รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม โครงสร้างประชากรล่าสุด สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทย คาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงจะบรรลุเป้าหมายการมีระบบรัฐสวัสดิการที่มีมาตรฐาน และควรเป็นระบบรัฐสวัสดิการที่มีความยืดหยุ่น เพื่อเลี่ยงวิกฤติการคลัง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 67)
Tags: สวัสดิการ, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย