“อนุสรณ์” ชู 13 ข้อเสนอให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหากิจการไฟฟ้าและพลังงานทั้งระบบ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงด้วยการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระ หรือสร้างภาระงบประมาณเพิ่มนั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น และไม่ได้แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม แต่สร้างความไม่เป็นธรรมเพิ่มเติมต่อประชาชนผู้เสียภาษีในอนาคต เกิดความไม่โปร่งใสในการจัดการกิจการไฟฟ้าทั้งระบบ จากการกำหนดนโยบายที่มีลักษณะเป็นการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ จากความร่วมมือของผู้มีอำนาจรัฐ กับกลุ่มทุนกิจการไฟฟ้ารายใหญ่ บนภาระของประชาชนและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

ไทยจึงเป็นประเทศที่มีค่าไฟฟ้าแพงที่สุดในอาเซียน ประชาชน และภาคการผลิต ภาคบริการทั้งระบบ ประสบปัญหาค่าไฟแพง ซึ่งเกิดจากการวางแผนที่ไม่ตระหนักว่าประชาชน และภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบ

“คาดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาค่าไฟฟ้างวดใหม่ พ.ค.-ส.ค. อีกครั้ง และลดค่าไฟฟ้าลงมาเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่เป็นการผลักภาระให้ กฟผ. ซึ่งในที่สุดหนีไม่พ้นเอาเงินสาธารณะมาชดเชย แทนที่จะใช้วิธีแก้ไขสัมปทานการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนกิจการไฟฟ้าขนาดใหญ่มากเกินไป” นายอนุสรณ์ ระบุ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หากสามารถแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในกิจการไฟฟ้าได้ ค่าไฟฟ้าควรลดลงมาอยู่ในระดับ 2.5-3.5 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมงในระยะยาว เฉพาะหน้าระยะสั้นต้องกดต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงกว่า 4 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ค่าไฟฟ้าแพงมากเช่นในปัจจุบัน เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จะทำให้ผู้ผลิตในไทยมีความสามารถในแข่งขันด้อยลง ขณะที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าแพงขึ้น

ทั้งนี้ หากเทียบกับประเทศอาเซียนที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ไทยมีค่าไฟฟ้าที่แพงกว่ามาก โดยราคาค่าไฟฟ้าในอินโดนีเซียอยู่ที่ 3.22 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมง เวียดนามอยู่ที่ 2.74 บาทต่อหน่วย มาเลเซียอยู่ที่ 1.78 บาทต่อหน่วย ส่วนลาวอยู่ที่ 1.19 บาทต่อหน่วย เมียนมาอยู่ที่ 1 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมง

“หลักการของนโยบายของกิจการพลังงาน ก็คือ เราต้องพัฒนาประชาธิปไตยพลังงาน ลดต้นทุนส่วนเกินพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Virtual Distributed Power Plant หรือโรงงานไฟฟ้าเสมือนจริงกระจายศูนย์ด้วยพลังงานหมุนเวียน และพลังงานทางเลือก และทบทวนสัญญาสัมปทานการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมทั้งหมด” นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมเสนอแนวทาง 3 ป. คือ ปฏิรูป ปรับโครงสร้าง ปรับเปลี่ยนสัมปทาน ในกิจการไฟฟ้าและกิจการพลังงาน การปฏิรูป ปรับโครงสร้างและปรับเปลี่ยนสัมปทานเฉพาะกิจการไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาราคาไฟฟ้าแพง ซึ่งจะไม่สามารถสำเร็จได้ หากไม่ปฏิรูปกิจการพลังงานไปด้วย เพราะมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก หากรัฐบาลใหม่ไม่ปฏิรูปและปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและพลังงานไปพร้อมกัน ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจจะถดถอยอย่างรุนแรงจากต้นทุนการผลิต การบริการและการดำเนินชีวิตสูง ความฝันในการศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV จะเป็นไปไม่ได้ ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นอีก

นายอนุสรณ์ ยังมีข้อเสนอเบื้องต้นต่อรัฐบาลใหม่ 13 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. ควรทบทวนแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และ ศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างกิจการไฟฟ้าโดยพิจารณาว่า ระบบ Enhanced Single Buyer (ESB) ซึ่งเป็นระบบผูกขาดที่ประเทศไทยใช้มาร่วม 70 ปียังเหมาะสมอยู่หรือไม่ อย่างไร

  2. หากยังจะใช้ระบบ Enhanced Single Buyer ระบบเดิมนั้น จำเป็นต้องมีการแยกระบบบัญชีให้ชัดเจน ระหว่างกิจการผลิตและกิจการระบบส่งไฟฟ้า และจัดทำระบบขอบเขต ของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้ชัดเจนกว่านี้

  3. ต้องปรับโครงสร้างการตลาดผลิตไฟฟ้าให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น และสัญญาสัมปทานควรมีความยืดหยุ่น การแข่งขันประมูล IPP รอบใหม่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียม หากแข่งขันแบบไม่เท่าเทียม ในที่สุดค่าไฟฟ้าจะแพง ประชาชนและภาคการผลิตจะเป็นผู้แบกรับภาระในที่สุด

  4. ควรทบทวนสัญญาสัมปทานใหม่ เพราะปัจจัยต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ประเมินผลการแปรรูปกิจการไฟฟ้าในช่วงทศวรรษ 2540 ว่ายังเหมาะสมอยู่หรือไม่

  5. ควรลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินจากระดับ 50-60% เพราะการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินพอดี ผลที่ตามมา คือ อัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นมาก หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่แค่ระดับ 2-3% จึงควรลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินลงมาให้อยู่ในระดับ 20-30% ก็จะสามารถลดค่าไฟได้

  6. ควรเพิ่มพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล เข้ามาในระบบมากขึ้น และ เพิ่มสัดส่วนมากกว่า 50%

  7. คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าต้องมีอำนาจอย่างแท้จริงในการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า มีความเป็นอิสระ และปลอดจากอำนาจการแทรกแซงการปฏิบัติงานและการดำเนินการของผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่ต้องถูกกำกับทางนโยบายโดยอำนาจประชาชน ผ่านรัฐสภา และรัฐบาล

  8. เมื่อมีการปฏิรูปและปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งมีการแบ่งแยกกิจการ และธุรกิจแต่ละประเภทให้ชัดเจนแล้ว ควรศึกษาเพื่อพิจารณานำ กฟผ.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง โดยพิจารณาดูว่ามีกิจการใดที่ควรเข้าตลาด กิจการใดไม่ควรเข้าตลาด และกิจการใดที่รัฐควรเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของ 100% ต่อไป

  9. ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า FT ต้องมีการปรับตามสูตรตามหลักวิชาการไม่ใช่ปรับตามความต้องการของผู้อำนาจ (กลุ่มทุนใหญ่หรือผู้มีอำนาจรัฐ) และมีการแทรกแซงโดยอำนาจทางการเมือง

  10. ควรศึกษาว่าการกำหนดค่าไฟฟ้า ควรเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศหรือไม่

  11. ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และ พลังงานชีวภาพอย่างเต็มที่ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล

  12. ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในชุมชนให้มากขึ้น

  13. ควรเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเพื่อลดค่าไฟฟ้า ไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ประชาชนจะมาจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ.มากขึ้น การลดค่าไฟฟ้าสามารถทำได้ในรูปแบบเดียวกับการใช้กองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาโดยตรึงราคาเอาไว้ในระยะหนึ่งและค่อยปรับเพิ่มในภายหลังเมื่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 66)

Tags: , , ,