นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คัดค้านการนำโรคโควิด-19 ออกจากการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) เนื่องจากจะกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอย่างมาก กระทบต่อแรงงานรายวัน และยังจะทำให้การป้องกันและควบคุมทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากแรงงานรับจ้างรายวันจะไม่บอกนายจ้างว่าตนเองป่วย หรือป่วยก็จะไม่ยอมไปรักษาหรือกักตัวเป็นพาหนะของการแพร่เชื้อได้ หากไม่มีรักษาฟรีคาดว่า จะมีระบาดมากขึ้นในกลุ่มครอบครัวรายได้น้อยและกลุ่มแรงงาน และในที่สุดจะส่งกระทบเศรษฐกิจรุนแรง
แต่หากรัฐบาลยังเดินหน้ารักษาฟรี โดยยังกำหนดให้โรคโควิดโอมิครอนเป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉิน จะทำให้การกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจไม่สะดุด รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีมากขึ้น และสามารถนำมาจ่ายให้กับงบประมาณสาธารณสุขได้
“เราสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องงบประมาณด้วยการปรับลดงบซื้ออาวุธ นำมาเพิ่มให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การรักษาโควิดสามารถดำเนินต่อไปได้จนกว่าการระบาดจะยุติ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เจ็บป่วยที่จำเป็นต้องพัก Hospitel และโรงพยาบาลสนาม รัฐบาลยังคงต้องดูแลค่าใช้จ่ายให้ต่อไป” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมมองว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่มีประกันสุขภาพจากภาคเอกชนอยู่แล้ว ส่วนประชาชนที่ซื้อประกันสุขภาพภาคเอกชน ต่อไปหากมีการประกาศให้ โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น สมาคมประกันชีวิตไทยก็อาจออกแนวทางในการไม่จ่ายค่าชดเชยรายวัน และค่ารักษาพยาบาลอาจไม่ครอบคลุมผู้ป่วยแบบ Home Isolation หรือรักษาที่บ้าน อันอาจทำให้ประชาชนผู้ถือกรมธรรม์เสียสิทธิได้
นายอนุสรณ์ ย้ำว่า การประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ต้องมีความมั่นใจอย่างชัดเจนว่า โรคโควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดและต้องปิดเมืองปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันอีก ขณะเดียวกัน ก็ไม่เห็นด้วยกับการนำวัคซีนคุณภาพต่ำฉีดให้นักเรียน ควรใช้วัคซีนคุณภาพสูงฉีดให้นักเรียน เพราะการใช้วัคซีนคุณภาพต่ำ จะไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ และเกิดความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพลูกหลานไทยในระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 65)
Tags: UCEP, งบประมาณ, รักษาโควิด, อนุสรณ์ ธรรมใจ