อนุสรณ์เตือนใช้นโยบาย Digital Wallet เสี่ยงก่อหนี้สาธารณะสูง ชี้ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นศก.แรง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญสถานการณ์ในการเร่งรัดจัดทำงบประมาณปี 2567 เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้ามามากกว่า 3 เดือนแล้ว ทำให้การจัดทำรายละเอียดงบประมาณและเบิกจ่ายจะล่าช้าไปประมาณ 5-6 เดือน ส่งผลลบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปีงบประมาณ 2567 หรือช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 เศรษฐกิจอาจไม่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดและอาจไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย

การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เพื่อพยุงราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาทำให้กระทรวงคลังสูญเสียรายได้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 158,000 ล้านบาท กองทุนน้ำมันยังมีหนี้อยู่อีก 70,000 กว่าล้านบาท หากรัฐบาลใหม่ยังคงเดินหน้าแจกเงิน Digital Wallet ให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มอย่างแน่นอน หากไม่ก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม ก็ต้องเก็บภาษีเพิ่ม หากเก็บภาษีเพิ่มเพื่อนำมาแจกจ่ายเงินโดยทั่วไปก็เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกสำหรับการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ควรจะเป็น หากต้องการเดินหน้านโยบายประชานิยมกันแบบเต็มที่ก็ขอให้ระวังปัญหาวิกฤติหนี้สินแบบละตินอเมริกาให้ดี

การปรับลดงบประมาณประจำ หรือ งบลงทุนอื่นๆก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก กรอบงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ที่วางไว้แล้วโดยรัฐบาลรักษาการวงเงิน 3,350,000 ล้าน ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐบาลประยุทธ์มาแล้ว รัฐบาลใหม่มีหน้าที่จัดทำรายละเอียดของกรอบงบประมาณดังกล่าว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก โดยมี รายจ่ายประจำ (2,490,860.5 ล้านบาท) ส่วนนี้ปรับลดแทบไม่ได้เลย รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง (33,759.1 ล้านบาท) ก็ต้องเป็นไปตามกรอบดังกล่าว ส่วน รายจ่ายลงทุน (717,199.6 ล้านบาท) อาจปรับได้ แต่คงไม่เพียงพอในการสนับสนุนนโยบายแจกเงิน Digital Wallet นโยบายเดียวซึ่งใช้เงินสูงกว่า 500,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมี รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 117,250.0 ล้านบาท วงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจะอยู่ที่ประมาณ (593,000 ล้านบาท)

สภาพัฒน์ฯ และสำนักงบประมาณประมาณการว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะอยู่ที่ 19,421,600 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 ภาระผูกพันจากการใช้จ่ายเงินตามมาตรา 28 ของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.5% ของงบประมาณรายจ่าย และ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 วงเงินคงเหลือตามมาตรา 28 ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2567 อาจมีการพิจารณาปรับลดกรอบอัตรายอดคงค้างจาก 32% เป็น 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มอีกมากกว่า 500,000 ล้านบาทเพื่อมาดำเนินนโยบายแจกเงิน Digital Wallet งบประมาณจะขาดดุลมากกว่า 1.093 ล้านล้านบาท แม้นรัฐบาลใหม่จะกู้เงินเพื่อทำงบขาดดุลเพิ่มอาจยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอยู่แต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงฐานะทางการคลัง ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ได้กำหนดตัวชี้วัด ดังนี้

(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต้องไม่เกินร้อยละ 60 ต่อมาหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด ในปี 2564 หนี้สาธารณะจึงเกือบจะทะลุเพดาน ส่งผลให้คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังออกประกาศขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP จากเดิมไม่เกินร้อยละ 60 เพิ่มเป็นไม่เกินร้อยละ 70 ต่อ GDP มีผลบังคับใช้วันที่ 20 กันยายน 2564

อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือแทบไม่เติบโตเลยจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุ 70% ได้ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลยังจัดทำงบประมาณขาดดุลปีละไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต้องไม่เกินร้อยละ 35 (ขยายสัดส่วนตอนวิกฤติเศรษฐกิจโควิด) หากทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มมากกว่า 1.093 เทียบกับงบประมาณ 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 32.6% ยังไม่ทะลุ 35% แต่เฉียดฉิวที่จะไม่เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังข้อนี้ เพราะในภาวะปรกติสัดส่วนนี้ต้องควบคุมให้อยู่ที่สัดส่วนประมาณ 30-32% เท่านั้น

(3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกินร้อยละ 10 (4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการต้องไม่เกินร้อยละ 5 ส่วนกรอบวินัยการเงินการคลังข้อ 3 และ ข้อ 4 นั้นประเทศไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

พื้นที่ทางการคลังจากเพดานการก่อหนี้สาธารณะ พบว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ เดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 61.63% ยังคงมีพื้นที่ทางการคลังคงเหลือจากเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หมายความว่า รัฐบาลจะก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีกได้ไม่เกิน 1.5 ล้านล้านบาท หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายมีโอกาสที่หนี้สาธารณะจะทะลุ 70% ของจีดีพีได้

หนี้สาธารณะก้อนนี้ยังไม่รวมภาระผูกพันทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นอีกจำนวนไม่น้อยจากโครงการต่างๆของรัฐบาลรวมทั้งความเสียหายทางการเงินจากใช้มาตรการกึ่งการคลังผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สถานการณ์หนี้สาธารณะของไทยภาพรวมยังอยู่ในภาวะที่ต้องบริหารจัดการด้วยความระมัดระวัง

ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ที่ไม่ควรเกิน 10% ในปัจจุบันสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 8.5% ทำให้เหลือพื้นที่อีกประมาณ 1.5% เท่านั้น ดังนั้นการดำเนินนโยบายที่จะสร้างภาระการคลังภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เม็ดเงินที่รัฐบาลใหม่จะหยิบไปใช้ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บวกงบกลางและงบสำรองจ่าย มีอยู่แบบจำกัด เนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์สร้างภาระผูกพันงบประมาณไว้ล่วงหน้าจำนวนไม่น้อย

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การปรับเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเมื่อปี พ.ศ. 2564 จะส่งผลกระทบก็ต่อเมื่อรัฐบาลนำเงินไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่คำนึงถึงกรอบความยั่งยืนทางการคลัง และ ยังคงทำงบประมาณขาดดุลสูงอย่างต่อเนื่อง หากการก่อหนี้สาธารณะนำไปใช้ให้เกิดการจ้างงานให้เกิดโครงการเสริมความสามารถของเศรษฐกิจไทยในอนาคตให้ดีขึ้นให้มีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น ก็จะไม่เกิดปัญหา เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจเติบโต GDP เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 70 น้อยลงไปด้วยตามสัดส่วน การปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะถือเป็นเรื่องจำเป็นหลังวิกฤติโควิด

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องทำให้เกิดการจ้างงานและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่อเนื่องให้ประเทศมีความสามารถในการหารายได้ ไม่ใช่แค่แจกเงิน การเยียวยาผ่านโครงการต่าง ๆก็มีความจำเป็นน้อยลงในขณะนี้ เพราะเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้น และผู้คนกลับไปมีรายได้มีงานทำสู่ภาวะปรกติแล้วในหลายธุรกิจอุตสาหกรรม บางกิจการ เช่น ภาคการท่องเที่ยว เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานด้วยซ้ำไป

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP นั้นสามารถเป็นตัวชี้วัดได้เพียงว่าหากหนี้สาธารณะมีสัดส่วนสูงจะส่งผลให้ประเทศมีความเสี่ยงในการชำระหนี้สูงขึ้นเท่านั้น อาจส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นจากความเสี่ยงในการได้รับชำระหนี้คืน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหนี้สาธารณะตอนนี้ยังไม่ได้บ่งชี้ว่า ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายใดๆในอนาคตอันใกล้

รัฐสามารถใช้เงินมากขึ้นได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเศรษฐกิจซบเซา ตามหลักการสำคัญของนโยบายการคลังที่ว่ารัฐต้องใช้เงินแบบสวนทางวัฏจักรเศรษฐกิจ (Countercyclical) ขณะนี้ ภาวะเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องจึงไม่มีความจำเป็นใดๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจแรงๆ และทำให้เกิดการสะสมความเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจและความเสี่ยงทางการเงินการคลังเพิ่มขึ้น

“หากรัฐบาลใหม่สามารถทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 5-6% ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จะทำให้ความเสี่ยงฐานะการคลังลดลง กรณีการเดินหน้านโยบายโอนเงินผ่านดิจิทัล วอลเลต Digital Wallet จำนวน 10,000 บาทให้ประชาชนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นระยะเวลา 6 เดือน ประมาณ 50 ล้านคนนั้นถือเป็นนโยบายแจกเงินให้กับประชาชนโดยตรง มีความจำเป็นต้องทบทวน เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติแต่อย่างใด อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้แม้นไม่สูงไม่เต็มศักยภาพ แต่ก็น่าจะขยายตัวได้อย่างต่ำ 3.5-3.6% เป็นอย่างน้อยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ 2.6% อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพก็ปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา การใช้เงินจำนวนมากเพื่อแจกเงินให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปี เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลในทางเศรษฐศาสตร์และการดำเนินนโยบายสาธารณะแต่อย่างใด

หากจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรใช้มาตรการอื่นแทนที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงทางการคลังและมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากกว่า การโอนเงินหรือแจกเงิน เป็น มาตรการ Income Transfer ควรมุ่งไปที่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือ ใช้บรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ใช่แจกเงินให้เป็นการทั่วไป หากจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ใช้มาตรการ Negative Income Tax (NIT) จะดีกว่า หากมีเป้าหมายต้องการให้เป็นการทั่วไปทุกคน สำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลาง รายได้สูง หรือ นักธุรกิจหรือมหาเศรษฐีทั้งหลาย ลดภาษีให้ตรงๆจะเหมาะสมกว่า เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น”

แหล่งที่มาของงบประมาณเพื่อรองรับมาตรการ Negative Income Tax (NIT) คือ การลดและเลิกโครงการที่มีลักษณะประชานิยมที่มิได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคนจน การนำฐานข้อมูลจาก NIT ไปปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณทางด้านสวัสดิการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

ประโยชน์สำคัญของมาตรการ NIT คือ การวางระบบฐานข้อมูลและพัฒนากลไกนอกระบบทางการเข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งแม้ว่ามาตรการ NIT จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ก็มีข้อดีที่สำคัญ คือ เป็นการสร้างผลตอบแทนการทำงานให้แก่ผู้มีเงินได้จึงจูงใจให้บุคคลพึ่งพาตนเองได้มากกว่าการรอรับสวัสดิการอย่างเดียว ต้นทุนในการบริหารจัดการ(Administrative Cost) ต่ำ ช่วยขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้จะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณไปได้มหาศาลที่เอาเงินไปแจกให้ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยหรือชนชั้นกลางที่ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ได้ดีกว่าการแจกเงินครั้งเดียว

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า แม้นจะมีการออกแบบให้ปิดจุดอ่อนการแจกเงินแบบเดิมแต่ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นในการแจกเงินให้คนรวยอยู่ดี ตัวนโยบาย Digital Wallet ได้ออกแบบให้ใช้ Token หรือ Digital Coin ในชุมชนรัศมี 4 กิโลเมตร ทำให้แก้ปัญหารับเงินโอนจากรัฐแล้วเอาไปซื้อสินค้าในเครือข่ายห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เม็ดเงินไม่กระจายมายังธุรกิจขนาดย่อมขนาดเล็ก การกำหนดรัศมีในการใช้ Token ทำให้ผลประโยชน์จากการใช้พุ่งตรงไปที่เครือข่ายร้านค้าชุมชนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการจ้างงานสาธารณะได้ดีกว่า

นอกจากนี้ยังสามารถใช้แอพลิเคชันในการหางานทำในชุมชนสามารถใช้แอพลิเคชันในการค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆเพื่อ Upskill Reskill และ สร้างทักษะความสามารถใหม่ New skill ได้ระบบดิจิทัลผ่านแอพลิเคชันทำให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายกำกับประสิทธิภาพและประเมินผลนโยบายได้ดียิ่งขึ้น การออกแบบวิธีการแจกเงินแบบนี้ ย่อมมีผลดีและกระตุ้นเศรษฐกิจดีกว่าการแจกเงินแบบรัฐบาลประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม นโยบาย Digital Wallet นี้ควรใช้ตอนปี พ.ศ. 2563-2564 ไม่ใช่เวลานี้ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง การเดินหน้านโยบายนี้จึงเป็นเรื่องการทำตามนโยบายที่ประกาศเอาไว้ เป็นการรักษาสัญญา แต่สัญญาบางอย่างต้องทบทวนได้หากมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์แล้ว แม้น Digital Wallet อยู่บนฐานคิดการกำหนดนโยบายจากฐานเรื่องสิทธิของประชาชนอันเป็นส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยมากกว่า ฐานคิดแบบสังคมสงเคราะห์ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมอุปถัมภ์

ข้อควรระวังของนโยบายลักษณะโอนเงินหรือแจกเงิน ก็คือ ข้อจำกัดของโครงสร้างงบประมาณค่อนข้างมั่นใจว่า หากเดินหน้าทำตามนโยบายทันที ต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มอย่างแน่นอนซึ่งจะทำให้การขาดดุลงบประมาณปี 2567 เพิ่มทะลุ 1 ล้านล้านบาท

หากเศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้า ไม่สามารถจัดเก็บภาษีมาสนับสนุนได้มากพอและต้องก่อหนี้อาจเกิดความเสี่ยงทางการคลังได้ เนื่องจากนโยบายดิจิทัล วอตเลทเป็นมาตรการที่ใช้เม็ดเงินงบประมาณสูงกว่า 5 แสนล้านบาท มาตรการนี้ประสบความสำเร็จโดยมีเงื่อนไขว่าอัตราความโน้มเอียงในการบริโภคของครอบครัวที่มีรายได้น้อยอยู่ที่ประมาณ 0.7 และ ตัวทวีคูณทางการคลังอยู่ที่ 6 เท่า ก็จะทำให้มูลค่าจีดีพีเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านล้านบาท (กรณีโอนเงิน 5,000 บาท) และ เพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านบาท (กรณีโอนเงิน 10,000 บาท) ทำให้การตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพที่ระดับ 5-6% มีความเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องพยายามเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เพิ่มให้ได้อย่างน้อย 2 แสนล้านบาทและภาษีอื่นๆอีกอย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท จึงทำให้การที่กู้เงินจำนวนมากๆมาสนับสนุนโครงการลดลงไม่ควรสร้างปัญหาซับซ้อนต่อการทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในการควบคุมปริมาณเงิน การดูแลปริมาณเงินเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติผ่านนโยบายการเงิน หากมีการโอนเงินซ้ำซ้อนต้องนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยจัดการ Digital Wallet ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับบัตรสวัสดิการคนจนที่ให้ก่อนหน้านี้

นายอนุสรณ์ กล่าวเสนอแนะว่า แทนที่รัฐบาลใหม่จะให้น้ำหนักไปที่การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ควรให้น้ำหนักไปที่การสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับประชาชนและระบบเศรษฐกิจด้วยการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆจากนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ต่างๆและการประกอบการใหม่ที่เป็นฐานใหม่ของการเติบโต และควรมุ่งความสนใจไปที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมืองจะเป็นประโยชน์มากกว่าปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลใหม่ต้องเดินหน้าแก้ไขทันที มีดังนี้

  • หนึ่ง ปัญหาโครงสร้างระบบการเมืองที่บิดเบี้ยวและไม่เป็นประชาธิปไตยจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่จะเป็นภาคบริการ มีความไม่สมดุลในการใช้ทรัพยากร มีการกระหน่ำใช้พลังงาน วัตถุดิบ ที่ดิน น้ำ อากาศ ธรรมชาติต่างๆ และสภาพร่างกายของคนทำงาน ผลกระทบที่ชัดเจน คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรง น้ำเน่าเสียรุนแรง ปัญหาขยะมีพิษ ดินเค็ม ขาดน้ำในหน้าแล้ง น้ำท่วมในหน้าฝน และ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ

ปัญหามลพิษเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทุ่มเทงบประมาณแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพราะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทบทวนรื้อถอนปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดพลวัตในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ต้องเดินหน้าปฏิรูประบบองค์กรอิสระและระบบวุฒิสภา

  • สอง ปัญหาโครงสร้างประชากรสังคมสูงวัย ประชากรในวัยทำงานลดลงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ฐานภาษีหดตัวลงจากประชากรวัยทำงานลดลง ประเทศไทยมีผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปีเกือบ 20% ของประชากรในปีนี้ โดยที่ประชากรผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอต่อความจำเป็นในการดำรงชีพ การจ่ายเบี้ยยังชีพนั้นไม่เพียงพอต้องสร้างระบบบำนาญเพื่อผู้สูงวัยที่อยู่นอกระบบสวัสดิการแรงงานในระบบ

อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายในปี พ.ศ. 2564 อัตราการเจริญพันธุ์อยู่เพียง 1.16 (อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่า 2.1 ประชากรจะเริ่มหดตัว) มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก หากเป็นเช่นนี้ต่อไป จำนวนประชากรไทยจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งและส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยในอีก 60-70 ปีข้างหน้า หากสังคมไทยเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ แล้วใครจะจ่ายภาษี ใครจะทำงาน ใครจะดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงวัย รัฐบาลใหม่ต้องมียุทธศาสตร์ นโยบายและแผนปฏิบัติการอย่างชัดจนในแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรดังกล่าวตั้งแต่บัดนี้

  • สาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในระดับสูงกว่า 80% ต่อเนื่องยาวนาน การมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงเกินกว่า 80% มากๆเป็นระดับที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพต่อระบบการเงินและข้อจำกัดในการเติบโตของเศรษฐกิจตัวเลขล่าสุดไตรมาสแรกปีนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขึ้นมาเกือบแตะ 91% ลูกหนี้มีพฤติกรรมก่อหนี้ใหม่ไปชำระหนี้เก่ามากขึ้นกว่าเดิม สะท้อนว่าภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวและกับดักหนี้รุนแรงขึ้นและยิ่งเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินก็ยากขึ้น เมื่อไม่ได้ก่อหนี้มาใช้จ่าย แต่ไปชำระหนี้เดิม ผลของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคต่อเศรษฐกิจย่อมน้อยลง

  • สี่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปัญหากับดักความยากจนข้ามรุ่นไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจติดอันดับต้นๆของโลกและรุนแรงมากขึ้นช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิดเมื่อปี พ.ศ. 2563-2564 เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่

นอกจากนี้ยังมีครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น จำนวนมาก ครัวเรือนเหล่านี้ส่วนใหญ่ ไม่มีเงินออม การศึกษาต่ำ และอัตราการพึ่งพิงสูง โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ครัวเรือนเข้าข่ายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น คือ การขาดความมั่นคงทางการเงินเนื่องจากไม่มีเงินออม (ร้อยละ 60.3) รองลงมาคือ ความขัดสนทางการศึกษาจากการที่เด็กอายุ 6-14 ปี ไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับครบ 9 ปี (ร้อยละ 36.4) โดยเด็กจำนวนมากต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา เนื่องจากครอบครัวไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาได้ และปัญหารุนแรงขึ้นในช่วงปี 63-64 แต่ขณะนี้บรรเทาลงบ้าง

  • ห้า ปัญหาการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมและโอกาสทางการศึกษา การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทภายในปี พ.ศ. 2570 จะช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง การสร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของแรงงานเป็นคำตอบต่อความท้าทายระยะยาว มากกว่าเพียงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

  • หก ความถดถอยของขีดความสามารถในการแข่งขันและการไม่มีเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความอ่อนแอของภาคส่งออกไทย ส่วนแบ่งในตลาดโลกทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง สินค้าผลิตด้วยต้นทุนสูงขึ้น ผลิตภาพต่ำทั้งผลิตภาพทุนและแรงงาน สินค้าขาดนวัตกรรม ขาดอัตลักษณ์ มีคู่แข่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามลำดับ ธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่ธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต มีธุรกิจอุตสาหกรรม New S Curve น้อยมาก

  • เจ็ด ค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสวัสดิการทางด้านสุขภาพ ความยั่งยืนทางการเงินของระบบสวัสดิการสังคมจากข้อจำกัดในการแสวงหารายได้ของรัฐเพิ่มเติมจากระบบภาษีและรายได้จากรัฐวิสาหกิจ กองทุนสวัสดิการสังคมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอย่างกองทุนประกันสังคมก็ยังต้องมีการปฏิรูปใหญ่เพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงวัยจากประชากรในวัยทำงานที่ลดลงอย่างรวดเร็วในระยะต่อไป ในส่วนของกองทุนชราภาพ ในกองทุนประกันสังคมก็อาจประสบปัญหาสภาพคล่องได้ใน 30 ปีข้างหน้า หากไม่มีเพิ่มการจ่ายเงินสมทบหรือยืดอายุเกษียณเพื่อรับเงินบำนาญ

  • แปด ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความทรุดโทรมของทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต เกษตรกรรม หรือ อุตสาหกรรม ไม่จะเป็นภาคบริการ มีความไม่สมดุลในการใช้ทรัพยากร มีการกระหน่ำใช้พลังงาน วัตถุดิบ ที่ดิน น้ำ อากาศ ธรรมชาติต่างๆ และสภาพร่างกายของคนทำงาน ผลกระทบที่ชัดเจน คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรง น้ำเน่าเสียรุนแรง ปัญหาขยะมีพิษ ดินเค็ม ขาดน้ำในหน้าแล้ง น้ำท่วมในหน้าฝน และ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ปัญหามลพิษเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทุ่มเทงบประมาณแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพราะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 66)

Tags: , ,