อธิบดีกรมปศุสัตว์ ส่งหน่วยเฉพาะกิจฯตรวจสอบฟาร์มสุกรหลังมีข่าว ASF ระบาด

​นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงว่า กรณีที่ข่าวขณะนี้เกิดโรคระบาดในสุกรในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรปรับสูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) กรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดมาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด หากพบฟาร์มสุกรมีความเสี่ยงในระดับสูงถึงสูงมากที่มีความเสี่ยงต่อโรค ASF กรมปศุสัตว์จะดำเนินการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในทันที โดยการทำลายสุกรซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังโรคทั้งในเชิงรุกและเชิงรับในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในฟาร์มสุกร โรงฆ่าสุกร สถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร และสถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์ รวมไปถึงเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสุกร/หมูป่าที่มีชีวิตและซาก ทั้งการเคลื่อนย้ายสุกรภายในประเทศ และการเคลื่อนย้ายสุกรระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังการลักลอบเคลื่อนย้ายทุกกรณีอย่างเข้มงวด

สำหรับโรค ASF เป็นไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ใน 35 ประเทศทั่วโลก หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยารักษาโรค นอกจากนี้เชื้อไวรัสที่ก่อโรคยังมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่นแต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ในปัจจุบันมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า มีความห่วงใยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกราย การลดความสูญเสียจากการระบาดของโรคในระยะยาวมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น โดยได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจดำเนินการค้นหาและสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุการระบาดของโรคสุกร และขอความร่วมมือเกษตรกรให้ความสำคัญในการดูแลสุกรของตนอย่างใกล้ชิดให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และให้ความสำคัญในเรื่องระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์ม มีคอกคัดสัตว์เพื่อขายแยกจากฟาร์มเพื่อป้องกันพ่อค้าที่รับซื้อสุกรอาจนำเชื้อมาสู่ฟาร์ม โดยเฉพาะการพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าและออกจากบริเวณฟาร์ม และโรงเรือน เลือกซื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และกักสัตว์ก่อนนำเข้ารวมฝูง หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตน หรือฟาร์มใกล้เคียง หากพบเห็นสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ห้ามนำสัตว์ป่วยตายไปจำหน่าย และรีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือ และตรวจสอบโดยเร็ว และลดความเสียหายจากโรคระบาด หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อหน่วยงานดังกล่าว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือ call center 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,