พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก โดยยกกรณีตัวอย่างอธิบายข้อกฎหมายเรื่องการถือหุ้นสื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ที่เซ็นรับรองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยหากศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่าถูกตัดสิทธิปมถือหุ้นสื่อนั้น ในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมือง ไม่ได้มีกำหนดข้อห้ามการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนไว้ ดังนั้นจึงไม่ได้ส่งผลกับ ส.ส.ที่เซ็นรับรอง และชนะการเลือกตั้ง
โดยพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ได้ยกตัวอย่างไว้ดังนี้
นายนิทรา เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง จดทะเบียนโดยถูกต้อง เมื่อมีการเลือกตั้ง นายนิทรา ได้ออกหนังสือรับรองให้ผู้สมัครของพรรคไปยื่นสมัครรับเลือกตั้ง นายนิทรา ลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรค และได้รับการเสนอชื่อจากพรรคให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาภายหลังจากวันเลือกตั้ง มีผู้ร้องเรียนว่านายนิทรา ถือหุ้นสื่อ Utv หากศาลตัดสินว่าถือหุ้นสื่อ Utv จริง การถูกตัดสิทธิจะมีผลถึงการรับรองผู้สมัครฯ ทำให้การรับรองจากนายนิทราไม่ชอบ ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่หมดหรือไม่อย่างไร
ตอบ นายนิทรา หัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีการจัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย มีชื่ออยู่ในข้อบังคับพรรคการเมืองที่มีนายทะเบียนพรรคการเมือง รับรองประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อมีการเลือกตั้งนายนิทรา หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหา (primary) เพื่อเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ตาม มาตรา 56 พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ มาตรา 45 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ภายหลังวันเลือกตั้ง
หากศาลตัดสินว่า นายนิทรา ถือหุ้นสื่อฯ มาก่อนเลือกตั้ง 5 ปี แม้ว่านายนิทรา ออกหนังสือรับรองให้กับผู้สมัครฯ ในช่วงขาดคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้าม แต่ก็เป็นคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของนายนิทรา ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.
แต่การลงนามรับรองให้กับผู้สมัครของพรรค เป็นการรับรองในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมือง ก็มิได้ห้ามหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน แต่อย่างใด ตาม มาตรา 16, มาตรา 24, มาตรา 9 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ประกอบ มาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 66)
Tags: การเมือง, จรุงวิทย์ ภุมมา, พรรคการเมือง, หุ้นสื่อ, เลือกตั้ง