อดีตพนง.แบงก์ชาติ เรียกร้องประธานบอร์ดต้องเป็นกลาง ไม่อิงการเมือง

ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะมีการประชุม เพื่อพิจารณาคัดเลือกประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีก 2 คน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากคณะศิษย์หลวงตามหาบัว กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งรวมถึงอดีตผู้ว่าฯ ธปท. ถึง 4 คน ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าดำรงตำแหน่ง เพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินพันธกิจของธนาคารกลาง ตามที่กำหนดไว้นั้น

พวกเราในฐานะ “อดีตพนักงาน ธปท.” ขอยืนยันว่า คณะกรรมการ ธปท. มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางกรอบ และกำหนดนโยบายของ ธปท. โดย ธปท. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์กร ที่ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเงินที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องในระยะยาว และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และทั่วถึง

แม้ว่าคณะกรรมการ ธปท. จะไม่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินโดยตรง แต่ พ.ร.บ. ธปท. ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) คณะกรรมการระบบการชำระเงิน และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ในตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ขึ้นไป และที่สำคัญ คือ มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และกำกับดูแลการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ

ด้วยบทบาทหน้าที่ของประธาน และกรรมการ ธปท.ข้างต้น บุคคลที่จะดำรงตำแหน่ง ต้องไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณขั้นสูงสุด ที่เป็นข้อบังคับ ธปท. ว่าด้วยจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ของกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในข้อ 4.5 ที่ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวม ข้อ 4.7 พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง และไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และ ข้อ 4.11 พึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน รักษาชื่อเสียง และภาพลักษณ์ของ ธปท.

“พวกเรา จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน และโปร่งใส อย่างเป็นอิสระในการสรรหาประธาน ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติ และพฤติกรรมที่ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณที่ระบุไว้เป็นที่ประจักษ์ในสังคม และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง”

พร้อมระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 80 ปี ของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูง เพื่อรักษาอธิปไตย และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของไทยไว้ โดยป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง

โดยได้ยกตัวอย่างคำพูดของ “เล้ง ศรีสมวงศ์” ผู้ว่าฯ ธปท.คนแรก ที่ทำงานเต็มเวลาที่ ธปท. ซึ่งได้กล่าวไว้ในการเข้าร่วมประชุมกรรมการธนาคารเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2490 ว่า “ในฐานะที่ ธปท. เป็นนายธนาคารกลาง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และจะดำเนินการอย่างอิสระ ตลอดจนทำหน้าที่ในการเหนี่ยวรั้งรัฐบาล ในกิจการที่ธนาคารเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศเป็นส่วนรวม” จม.เปิดผนึก ระบุ

อนึ่ง สำหรับรายชื่อคณะกรรมการสรรหาฯ ทั้ง 7 คน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ประกอบด้วย

1. นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

2. นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์

3. นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

4. นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

5. นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

6. นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

7. นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 67)

Tags: ,