นายคิโยทากะ อากาซากะ อดีตรองเลขาธิการฝ่ายการคมนาคมและข้อมูลสาธารณะของสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่า ญี่ปุ่นควรร้องขอให้องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นผู้ตัดสิน ในกรณีที่จีนสั่งแบนการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
นายอากาซากะกล่าวว่า ญี่ปุ่นอาจยื่นคำร้องถึง WTO เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นความเคลื่อนไหว “ทางยุทธศาสตร์” เพื่อโน้มน้าวให้จีนยุติคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น โดยระบุว่าการตัดสินใจของจีนที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ นายอากาซากะยังแนะนำให้นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนางโยโกะ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยของน้ำที่ถูกปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ของ UN ที่รัฐนิวยอร์กของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมในระดับนานาชาติ
นายอากาซากะเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “แม้ว่าจะยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการแก่หน่วยงานเฝ้าระวังด้านการค้าของ UN แล้ว ญี่ปุ่นยังคงสามารถเจรจากับจีนได้ เนื่องจากการเจรจาระดับทวิภาคีถือเป็นพื้นฐานของกลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO”
ทั้งนี้ นายอากาซากะเคยจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตกลงว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade หรือ GATT) อีกทั้งเคยเป็นเลขาธิการ GATT ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น
“บางคนกล่าวว่า การยื่นเรื่องร้องเรียนไปยัง WTO อาจเป็นการยั่วยุจีนและทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ผมเชื่อว่า ญี่ปุ่นจะสามารถใช้วิธีการดังกล่าวเป็นกลยุทธ์เพื่อสร้างแรงกดดันให้กับจีน ซึ่งผมไม่คิดว่าจีนต้องการมีข้อพิพาทใด ๆ กับญี่ปุ่นบนเวที WTO”
นายอากาซากะ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 66)
Tags: UN, WTO, จีน, ญี่ปุ่น, องค์การการค้าโลก, อาหารทะเล