อดีดบิ๊ก กฟผ. กดดัน รมว.พลังงาน เร่งชงครม.ตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่ห่วงงุบงิบเปลี่ยนตัว

อดีตผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบด้วย นายพิเชษฐ์ ชูชื่น และนายบุญเลิศ มงคลวิทย์ พร้อมด้วยนายธรรมยุทธ สุทธิวิชา อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. และนายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. และภาคประชาชน ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ซึ่งคณะกรรมการ กฟผ. ได้เห็นชอบให้นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าฯ กฟผ.แล้วนั้น เป็นการดำเนินการด้วยความถูกต้องและชอบธรรมที่ยึดแนวทางปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายทุกประการ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนและการยอมรับจากพนักงาน กฟผ. และสหภาพแรงงาน กฟผ. เช่นกัน

หลังจากนั้น คณะกรรมการ กฟผ.ได้สรุปผลการคัดเลือก และนำเสนอไปยัง รมว.พลังงาน ในขณะนั้น คือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างรอนำเข้า ครม. แต่ช่วงนั้นมีการยุบสภา จึงทำให้ ครม.ในขณะนั้นไม่สามารถพิจารณาอนุมัติได้ เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงได้นำเสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึง 2 ครั้ง ตามคำแนะนำของ ครม.และรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่ กกต.ยังคงยืนยันให้นำเสนอ ครม.ของรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา

ดังนั้น เรื่องจึงยังคงอยู่ที่ รมว.พลังงาน จึงเป็นความชอบธรรมที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน สามารถพิจารณานำเสนอต่อ ครม.ใหม่ได้ เพราะผ่านการสรรหาโดยชอบธรรมมาแล้ว ซึ่งหากจะมีการสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ.ใหม่ ก็จะไม่เป็นธรรม และส่งผลเสียหายต่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก และเป็นข้อสงสัยต่อสังคมอีกทาง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ประกอบกับการจะเปลี่ยนแปลงให้มีการสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ.ใหม่นั้น อาจทำให้เกิดข้อครหาว่ามีใบสั่งจากทุนใหญ่ด้านพลังงาน มากดดันรัฐบาล

“พวกเราจึงขอให้ รมว.พลังงาน พิจารณานำเสนอผลการคัดเลือกผู้ว่าฯ กฟผ. คนที่ 16 คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เข้าครม. เพื่อเห็นชอบอนุมัติแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ เพราะหากมีการเริ่มสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ.ใหม่ และไม่ใช่นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ซึ่งเป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางจากสื่อต่างๆ อยู่แล้วว่าใครจะได้รับการคัดเลือก ก็ย่อมจะไม่สง่างาม และไม่เป็นผลดีต่อการบริหารงานใน กฟผ.อย่างแน่นอน และอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งใน กฟผ. ไม่เป็นผลดีต่อการสนับสนุน และบริหารงานตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน หรือ รมว.พลังงงาน อย่างเต็มที่ก็เป็นได้”

สำหรับกรณีค่าไฟฟ้าแพงนั้น ในความเป็นจริง ต้นกำเนิดมาจากในอดีตที่ภาครัฐ และกระทรวงพลังงาน เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทและกำหนดนโยบายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินไป โดยขาดการสร้างความสมดุลย์ด้าน Demand และ Supply ที่ปัจจุบัน Supply มีมากกว่า Demand เกินครึ่งหนึ่ง อีกทั้งยังกำหนดให้ กฟผ.ทำสัญญาจ่ายค่าความพร้อมอื่นๆ ตลอดจนปล่อยปละละเลยกำหนดให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกินไป โดยอ้างปัญหาโลกร้อน และไปร่วมลงนามในสัญญาร่วมกับประเทศต่างๆ โดยไม่ดูข้อจำกัดต่างๆ ภายในประเทศ จนเป็นเหตุให้เกิดข้อครหาว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนพลังงงาน และจากนโยบายที่ รมว.พลังงาน ประกาศลดค่าไฟแม้จะเป็นเรื่องดี แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น การแก้ปัญหาค่าไฟแพง ควรแก้ที่ต้นเหตุ คือ การแก้ไขสัญญาที่รัฐเสียเปรียบกับเอกชน เช่น ค่าความพร้อมจ่าย เป็นต้น แก้ไขสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐ และประชาชนสำหรับรายใหม่ สร้างความสมดุลย์ของ Demand กับ Supply อย่างสมเหตุสมผล เปิดเสรีการนำเข้าเชื้อเพลิงก๊าซ LNG เพื่อให้เกิดการแข่งขัน จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้ กำหนดให้ภาคเอกชนสามารถขอใช้ท่อก๊าซจาก ปตท.ได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล และควรให้ กฟผ.เป็นองค์กรหลักในการนำเสนอและจัดทำแผน PDP เพื่อนำเสนอรัฐบาลได้อย่างถูกต้อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 66)

Tags: ,