องค์กร Welthungerhilfe (WHH) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเยอรมนีเปิดเผยว่า ข้อเสนอที่จะตัดรัสเซียออกจากกลุ่มประเทศ G20 รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ นั้น อาจทำให้ความพยายามในการแก้วิกฤตอาหารโลกล่าช้าออกไปอีก ขณะที่วิกฤตดังกล่าวรุนแรงขึ้นเนื่องจากผลพวงของสงครามในยูเครน
นายมาธิอัส มอกเก ประธานของ WHH กล่าวว่า การเจรจากับรัสเซียเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก
นายมอกเกให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “แม้รัสเซียจะเป็นผู้รุกราน และสมควรได้รับการคว่ำบาตรก็ตาม แต่สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เราเผชิญกันทุกวันนี้ จำเป็นต้องมีการเจรจา” นอกจากนี้ ยังคาดว่า ผู้นำกลุ่ม G7 จะยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตอาหารในการประชุมนัดถัดไป
นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังระบุว่า การเปิดฉากรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อเดือนก.พ. ส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกดีดตัวสูงขึ้น และทำให้เกิดการขาดแคลนธัญพืชในบางประเทศของเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ
นายมอกเกยังกล่าวว่า เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตอาหารล่าสุดในปี 2550-2551 ซึ่งขณะนั้นรัสเซียยังเป็นสมาชิกกลุ่ม G8 และมีบทบาทสำคัญในการช่วยคลี่คลายปัญหาความหิวโหยทั่วโลก
ทั้งนี้ การออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนระบุว่า รัสเซียควรถูกถอดถอนออกจากกลุ่ม G20 แม้ผู้เชี่ยวชาญจะมองว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากอินเดีย จีน และสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่ม G20
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 65)
Tags: G20, UN, WHH, รัสเซีย, วิกฤติอาหารโลก