มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการรับสมัครและการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้มีความโปร่งใสและประสิทธิภาพ ดังนี้
1. จำนวนผู้สมัครต่ำกว่าที่ กกต. คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งอาจเนื่องมาจาก
-
ข้อจำกัดในการประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะลงสมัคร
-
การที่ กกต. ไม่ได้สนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน ให้ช่วยรณรงค์ถึงความสำคัญของบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา และช่วยเชิญชวนผู้สนใจให้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
-
เงินจำนวน 2,500 บาทที่ต้องจ่ายในการลงสมัครนั้น เป็นจำนวนค่อนข้างสูงสำหรับประชาชนส่วนใหญ่
2. กกต. ได้ออกแบบขั้นตอนการสมัครให้ง่าย ผู้สมัครไม่ต้องใช้เอกสารประกอบการสมัครมากนัก อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการรับสมัครต่างอำเภอ/เขต มีการตีความรายละเอียดการรับสมัครแตกต่างกันบ้าง เช่น ในเรื่องใบรับรองแพทย์ สูติบัตร ฯลฯ บางคนขอเอกสารเกินจำเป็นเพื่อกันไว้ก่อน จึงน่าจะมีการซักซ้อมการทำงานให้ละเอียดมากขึ้นในอนาคต
3. เนื่องจากผู้สมัครมีจำนวนน้อยทำให้เกิดการฮั้วได้ง่ายขึ้น กกต. จึงควรกำหนดมาตรการที่ชัดเจน รวมทั้งจัดให้มีผู้สังเกตการณ์การเลือกประจำสถานที่เลือก เพื่อการป้องกันการฮั้ว หรือการซื้อตัวผู้สมัคร โดยเฉพาะในขั้นตอนการเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน และควรประกาศมาตรการดังกล่าวให้ทราบโดยทั่วกัน
4. กกต. ควรกำหนดแนวทางที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้สมัครแนะนำตนเอง และให้ผู้สมัครมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจเลือก กกต. ควรเผยแพร่ประวัติของผู้สมัครตามแบบ สว.3 ทางเว็บไซต์และ แอปพลิเคชันของ กกต. เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงข้อมูลของผู้สมัครอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังช่วย กกต.ตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครในอีกทางหนึ่งด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 67)
Tags: กกต., มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย, สว.